ความแตกต่างระหว่าง ‘หญ้ายา’ กับ ‘สมุนไพร’
‘หญ้ายา’ คือ พืชที่มีสรรพคุณทางยาใช้ในการรักษาโรค หลายคนอาจสงสัยว่าหญ้ายามีความเหมือนหรือต่างจากสมุนไพรอย่างไร เพราะตามความเข้าใจที่ทุกครอบครัวปลูกฝังกันมาแต่เด็ก คือ สมุนไพรเป็นพืชที่ใช้ในการรักษาโรค ในขณะที่หญ้ายาก็เป็นพืชเช่นกัน…
เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจความเหมือนและความต่างระหว่าง ‘หญ้ายา’ กับ ‘สมุนไพร’ กันอย่างรอบด้าน
หญ้ายา หมายถึงอะไร ?
เดิมทีภาษาไทยเราไม่มีคำว่า ‘หญ้ายา’ ซึ่งถือเป็นคำที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ มีที่มาจากภาษาจีนคำว่า ‘เย่าเฉา’ (藥草 — Yàocǎo) มีความหมายว่า หญ้าที่มีฤทธิ์ทางยา และตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า ‘Medicinal Grass’ โดยประเทศไทยจะมีแต่คำว่า ‘สมุนไพร’ ซึ่งคำว่าสมุนไพรนั้นยังไม่ครอบคลุมและมีความแตกต่างกับหญ้ายาอยู่หลายประการ
ก่อนหน้านี้ เราจะเรียกพืชที่พบในป่าเขาว่า ‘สรรพยา’ หมายถึงพืชที่มีสรรพคุณทางยา ซึ่งชาวน่านในอดีตได้นำพืชเหล่านี้มาใช้ในการรักษาโรคยาวนานกว่า 700 ปี จนก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันโลกของเราก็พัฒนาและก้าวไปข้างหน้า ทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงสาธารณสุขที่ล้ำสมัยมากขึ้น ภูมิปัญญาในการรักษาโรคแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ แต่การจะให้ทิ้งสมบัติล้ำค่าอย่าง พืชที่มีสรรพคุณทางยา ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
ปัจจุบันการแพทย์ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปข้างหน้านั้นคือ ‘วิทยาศาสตร์’ ดังนั้นการจะรักษาไว้ซึ่งสมบัติล้ำค่า และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของพืชพรรณในป่าเขาให้ลูกหลานได้สืบทอดนั้น ก็จำเป็นต้องนำพืชเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้พืชนั้น ๆ มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่ชะงัดนักมากขึ้น เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘หญ้ายา’
หญ้ายา คือพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่อยู่ในป่าเขา โดยเฉพาะป่าต้นน้ำน่านที่สำคัญต่อคนไทยทุกคน ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนน่าน ก่อนจะนำมาพัฒนาต่อยอดด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ วิเคราะห์กันตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ขั้นตอนการสกัดเพื่อให้ได้ตัวยาที่มีสารออกฤทธิ์แน่ชัด ประชาชนสามารถใช้หญ้ายาในการรักษาโรคได้อย่างมั่นใจไม่แพ้กับยาที่มาจากเคมี ดังนั้น หญ้ายาจึงหมายถึง ยาจากพืชที่พัฒนาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สกัดสารสำคัญออกมาจนกลายเป็นยาสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้
สมุนไพร หมายถึงอะไร ?
สมุนไพรเป็นตัวแทนขององค์ความรู้และภูมิปัญญาในการรักษาโรคแบบดั้งเดิมของคนสมัยก่อน อย่างยาแผนไทยหรือแผนโบราณที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน มีที่มาจาก พืช แร่ธาตุในธรรมชาติ และส่วนประกอบของสัตว์ที่มีฤทธิ์ทางยา
ที่ผ่านมาปู่ ย่า ตา ยาย จะสอนให้เราใช้สมุนไพรในการรักษาโรคที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก ผ่านการนำมาต้มดื่ม หรือบดผงอัดเม็ดกิน ซึ่งปริมาณที่ใช้ดื่มกินเพื่อรักษาโรคจะไม่แน่ชัด แต่จะใช้วิธีการคาดเดาเอา
หญ้ายากับสมุนไพรต่างกันอย่างไร ?
หญ้ายา กับ สมุนไพร มีความคล้ายคลึงกันอยู่บางประการ นั่นคือ ทั้งสองตัวนี้ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณในการรักษาโรคเช่นเดียวกัน แต่ที่มาจะมีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังนี้
● หญ้ายา = พืชที่พบในป่าเขา เป็นการนำเอาองค์ความรู้ดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี มาทำการวิเคราะห์ วิจัย และสกัดเอาสารสำคัญออกมาจนกลายเป็นยารักษาโรคสมัยใหม่
● สมุนไพร = ภูมิปัญญาการรักษาโรคดั้งเดิม หมายถึง พืช แร่ธาตุในธรรมชาติ และส่วนประกอบของสัตว์
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงจะเห็นว่า ทั้งสองคำมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือใช้เพื่อรักษาโรค แต่ที่มาและกระบวนการต่าง ๆ ก่อนจะออกมาเป็นรูปแบบของยารักษาโรคมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ข้อดีของหญ้ายาและสมุนไพร
แม้จะมีความแตกต่างกันแต่ตัวยาทั้งสองประเภทนี้ก็มีข้อดีในตัวของมันเอง ล้วนเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษคนไทยทั้งสิ้น
● หญ้ายา เป็นยาที่มาจากพืช และมีการพิสูจน์ทราบสารสำคัญที่อยู่ในตัวพืชนั้น ๆ ผ่านกระบวนการทางเภสัชศาสตร์ แปรรูปออกมาเป็นยาสมัยใหม่ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อบริโภคหญ้ายาเข้าไปแล้วจะสามารถบรรเทาและรักษาอาการของโรคได้จริง ที่สำคัญรู้ปริมาณสารสกัดที่ร่างกายได้รับอย่างแน่ชัด
● สมุนไพร เป็นองค์ความรู้ดั้งเดิม สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ และปัจจุบันก็หาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยารวมไปถึงร้านสะดวกซื้อ
ปัจจุบันสังคมเราเริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับการบริโภคอาหาร และยาจากพืชมากขึ้น การผลักดัน ‘หญ้ายา’ ให้กลายเป็นคำที่ทุกคนเข้าใจโดยทั่วกัน จึงเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมเรื่องการผลักดันยาจากพืชของไทยให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น เพราะเมื่อทุกคนรับรู้ถึงคุณค่า และสรรพคุณต่าง ๆ ที่เราหาได้จากธรรมชาติแล้ว ไม่เพียงแต่จะทำให้ทุกคนได้บริโภคยาที่มาจากธรรมชาติ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยควบคู่ไปกับเรื่องสุขภาพอีกด้วย