หญ้ายาในป่าน่าน ทางออกของคน ทางออกของป่า

ณ ใจกลางจังหวัดน่าน มีป่าที่เขียวขจีและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่ส่งมวลน้ำไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา ป่าน่านได้เผชิญกับปัญหาการบุกรุกและการถางป่าที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดลงนับล้านไร่ ปัญหานี้ไม่เพียงแต่ทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านน้ำและการเกษตรของประเทศ

ที่มาที่ไปของปัญหาการบุกรุกและถางป่าน่านนั้นชวนกระอักกระอ่วนให้กับทุกฝ่าย เพราะเป็นผลมาจากปัญหาทางเลือกในการทำมาหากินที่จำกัดของคนที่พื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การถางป่าเพื่อทำพืชไร่สำหรับอาหารสัตว์ที่แลกมาด้วยเงินที่หล่อเลี้ยงชีวิต และพื้นที่ป่าที่หายไป

ที่น่าสนใจคือปัญหานี้ไม่ได้ถูกละเลย ปัจจุบันมีหลายโครงการที่หันมาหาหนทางที่จะช่วยฟื้นฟูป่าน่านให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง หนึ่งในนั้น คือ ‘หญ้ายา’ การสร้างพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ในป่า แต่หญ้ายาจะเป็นทางออกของปัญหาป่าน่านจริงหรือ

“น่านแซนด์บ็อกซ์” กับ “หญ้ายา” จุดพลิกฟื้นและอนุรักษ์ป่าน่าน

หญ้ายาพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่เติบโตใต้ต้นไม้ใหญ่ ผลผลิตจากหนึ่งในโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน “โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์” โดย “บัณฑูร ล่ำซำ” ประชากรน่าน ผู้เดินหน้าฟื้นฟูป่าน่านอย่างสุดความสามารถ

น่านแซนด์บอกซ์ แนวคิดที่ค้นหาโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาป่าน่านจากกระแสทุนนิยม ที่ส่งผลให้คนพื้นที่ถางป่าเพื่อปลูกพืชไร่ ทำให้จำนวนต้นไม้บนพื้นที่ป่าสงวนลดลงต่อเนื่องหลายทศวรรษ เกิดเป็นเขาหัวโล้น กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าน่าน ป่าต้นน้ำแห่งสำคัญของประเทศไทย

บัณฑูร ล่ำซำ ได้คิดค้นยุทธศาสตร์น่านแซนด์บ็อกซ์ผ่านการตกผลึกถึงที่มาที่ไปของปัญหาป่าน่านถูกทำลายจากการทำกิน

  • 72 เปอร์เซ็นต์ของป่าน่านต้องกลับมาเป็นป่าสงวนดังเดิม
  • 18 เปอร์เซ็นต์ต้องกลับมาเป็นพื้นที่ป่า มีต้นไม้ใหญ่ตามที่กำหนด โดยสามารถทำกินด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายป่า 
  • 10 เปอร์เซ็นต์สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้เต็มที่ แต่พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนในทางกฎหมาย

หญ้ายาเป็นหนึ่งในทางออกของปัญหาป่าน่านที่บัณฑูร ล่ำซำ มองเห็นความเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันเทรนด์การใช้พืชเพื่อรักษาโรคได้รับความนิยมมากขึ้น ด้วยความเชื่อด้านความปลอดภัยและปราศจากสารเคมีสังเคราะห์

ลำพังการปลูกพืชเศรษฐกิจทั่วไป อย่างไม้ผล ต้นยาง หรือพืชไร่จำเป็นต้องถางป่า เพราะอาศัยพื้นที่มาก แต่หญ้ายาที่เติบโตใต้ต้นไม้ใหญ่ ทำให้ความจำเป็นในการถางป่านั้นลดลง และด้วยจุดประสงค์ของการปลูก คือ การนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รักษาและดูแลสุขภาพ ส่งผลให้พืชเหล่านั้นมีมูลค่าสูงขึ้น บวกกับเทรนด์ในการบริโภคสินค้าจากพืชที่เพิ่มสูงขึ้นจึงเป็นไปได้ที่หญ้ายาจะสามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนเมื่อเทียบกับการปลูกพืชแบบเดิม

หญ้ายา มูลค่าที่มากกว่าเม็ดเงิน แต่เป็นความอุดมสมบูรณ์

นอกเหนือจากประเด็นของรายได้ของคนในพื้นที่แล้ว ความอุดมสมบูรณ์ที่ลดลงเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดจากจำนวนป่าที่หายไป การปลูกพืชไร่ที่ใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมี และสารกำจัดศัครูพืชส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดิน

ในขณะที่หญ้ายา พืชที่มีศักยภาพที่จะนำไปทำเป็นยาต้องมีความบริสุทธิ์สูง สารปนเปื้อนต่ำ ในขณะเดียวกันต้องมีสารที่เป็นตัวยา หรือสารออกฤทธิ์สูง การใช้สารเคมีสังเคราะห์แบบเดิมจึงไม่สามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้สารเคมีธรรมชาติที่ปลอดภัยกว่า อย่างปุ๋ยชีวภาพที่หมักจากเศษอาหาร ตลอดจนการเตรียมดิน และเทคนิคการเกษตรที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้หญ้ายามีคุณสมบัติในการนำไปต่อยอด

หญ้ายาจึงไม่เพียงช่วยในเรื่องของการทำมาหากิน แต่ยังมีส่วนสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน พร้อมฟื้นฟูความบริสุทธิ์ และอุดมสมบูรณ์ของป่าด้วยเช่นกัน

หญ้ายา คำตอบของปัญหาป่าน่านถูกทำลาย?

หนึ่งปัญหาอาจไม่ได้มีคำตอบแค่ทางเดียวเท่านั้น ดังนั้น หญ้ายาจึงเป็นเพียงหนึ่งในคำตอบของปัญหาป่าน่านถูกทำลาย

“โจทย์ของปัญหานี้ คือ จะทำอย่างไรให้รัฐกับประชาชนมาแก้ปัญหาให้ทั้งคนและป่าอยู่ร่วมกันได้? – บัณฑูร ล่ำซำ”

หากอ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของบัณฑูร ล่ำซำ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการมากมายที่ช่วยพลิกฟื้นป่าน่านมาอย่างยาวนาน จะพบว่าการจะฟื้นฟูป่าน่านให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งก็ทำได้ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน

แม้ว่าปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของป่าน่านส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการถางป่าเพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ แต่ถึงอย่างนั้นในโลกยุคปัจจุบันยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ได้เช่นเดียวกัน อย่างการท่องเที่ยว การจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม และปัจจัยด้านสภาพอากาศที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น นอกจากเจ้าหน้าที่รัฐ และคนน่านเองแล้ว ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวก็สามารถมีส่วนช่วยให้การท่องเที่ยวจังหวัดน่านยั่งยืนมากยิ่งขึ้นได้ด้วย 

หากถามว่าอะไรคือคำตอบหรือทางออกของปัญหาคงไม่มีคำตอบที่แน่นอน หรือตายตัว แต่อาจเป็นแนวคิดของการกระทำที่อยู่บนพื้นฐานของความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธรรมชาติ ป่าไม้ พื้นที่ป่าต้นน้ำ และความยั่งยืน ซึ่งหญ้ายาเป็นเพียงส่วนหนึ่งบนเส้นทางที่แสนยาวไกลในการพลิกฟื้นป่าต้นน้ำน่านให้กลับมาสมบูรณ์

ที่มาของข้อมูล