การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำชั้น 1 อนาคตแห่งสายน้ำและธรรมชาติ
ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ภัยพิบัติ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับมนุษย์อย่างเรา ๆ เป็นอย่างมาก ผู้คนจึงหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ป่าต้นน้ำชั้น 1 ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตและระบบนิเวศ และเป็นรากฐานสำคัญของการมีอยู่ของสายน้ำและอนาคตของธรรมชาติที่ยั่งยืนอีกด้วย
ทำความรู้จัก ป่าต้นน้ำชั้น 1
ป่าต้นน้ำชั้น 1 หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 คือพื้นที่ที่เป็นภูเขา มีความลาดชันมากที่สุด มีสภาพของดินที่สามารถเกิดการพังทลายสูง จึงต้องสงวนรักษาไว้เป็นป่าอนุรักษ์ พื้นที่ต้นน้ำลำธาร อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยเฉพาะ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นบริเวณนี้ จะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ง่ายและรุนแรง
พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ระดับชั้น ได้แก่
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ ต้องสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ
- พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1B เป็นพื้นที่ที่สภาพป่าส่วนใหญ่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาหรือการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นแล้ว หากจะใช้งานที่ดินะต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ
ภัยคุกคามที่มีต่อป่าต้นน้ำชั้น 1

แม้ป่าต้นน้ำชั้น 1 จะเป็นพื้นที่สงวนและเป็นแหล่งต้นกำเนิดธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต แต่บริเวณป่าต้นน้ำชั้น 1 ก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดจากฝีมือของนมุษย์มานับครั้งไม่ถ้วน
- การบุกรุกเพื่อการเกษตร – ส่วนมากจะเป็นการขยายพื้นที่เพราะปลูก โดยเฉพาะพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ลาดชัน ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าและเพิ่มความเสี่ยงต่อการชะล้างพังทลายของดิน รวมกับปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำตั้งแต่ต้นสายอีกด้วย
- การตัดไม้ทำลายป่า – การลักลอบตัดไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้โครงสร้างของป่าถูกทำลาย ดินขาดการยึดเกาะ ความสามารถในการกักเก็บน้ำก็ลดลงตามไปด้วย
- ไฟป่า – ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทางภาคเหนือของไทย ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ สิ่งนี้นอกจากจะทำให้ป่าสูญหาย ยังทำลายหน้าดิน พืชพรรณและอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรมและลดความสามารถในการซับน้ำได้
- การพัฒนาพื้นที่ – ทั้งการสร้างถนน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่า การไหลของน้ำ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่
- การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ – เป็นภัยคุกคามที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งปริมาณน้ำฝนที่ไม่แน่นอน ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้น หรือน้ำท่วมฉับพลัน ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตและความสมบูรณ์ของป่า ทำให้ป่าอ่อนแอ แห้งตายและถูกทำลายได้ง่าย
การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำชั้น 1 หนทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน
ในปัจจุบัน หน่วยงานรัฐและประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำชั้น 1 ทำให้การอนุรักษ์ผืนป่าเหล่านี้กลายเป็นวาระสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยปี 2561 กรมป่าไม้ได้ออกมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ใช้ดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 เพื่อลดเสื่อมโทรมของธรรมชาติ และสามารถจัดการน้ำและใช้ประโยชน์จากที่ดินในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนี้
- ขอความร่วมมือกับประชาชนในเขตพื้นที่ งดเว้นการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชหรือลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช
- ขอความร่วมมือกับประชาชนในเขตพื้นที่ หลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัชพืชหรือลดการจุดไฟเผาวัชพืช
- ให้ประชาชนในเขตพื้นที่เลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งตามความต้องการและความเหมาะสม ได้แก่
- เลือกนำเอามาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งวิธีกล/วิธีพืชที่มีอยู่หลายวิธี ไปผสมผสานหรือประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ อย่างน้อย 4 วิธี
- เลือกการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่นำแนวพระราชดำริด้านปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้เป็นมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่
แน่นอนว่า หากจะอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำชั้น 1 ให้อุดมสมบูรณ์ ประชาชนในเขตพื้นที่และโดยรอบยังสามารถร่วมมือกันหาแนวทางการอนุรักษ์ป่าที่ยั่งยืนและครอบคลุมได้ ยกตัวอย่างเช่น
- ฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม – โดยการริเริ่มโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ที่ถูกบุกรุกหรือมีสภาพป่าเสื่อมโทรม โดยเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และมีศักยภาพในการอนุรักษ์ดินและน้ำ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภายในชุมชน – สร้างความเข้าใจและให้ความรู้แก่ผู้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่หรือใกล้เคียงกับป่าต้นน้ำ ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน หรืออาจจะสนับสนุนการประกอบอาชีพทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่ทำลายป่าไปมากกว่าเดิม
- ทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม – สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกไปสู่ระบบที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร หรือการปลูกพืชตามแนวระดับเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดินและการใช้สารเคมีได้ดี
- สร้างความตระหนักรู้ – รณรงค์และให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความสำคัญของป่าต้นน้ำและผลกระทบจากการทำลายป่า สร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำชั้น 1 ไม่ใช่เพียงการปกป้องผืนป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของสายน้ำและธรรมชาติ การที่เราสามารถรักษาความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำได้ นั่นหมายถึงการที่เราสามารถสร้างหลักประกันถึงการมีน้ำสะอาดใช้ในอนาคต ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพของทุกคนทั้งในตอนนี้และอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง
- นิตยสารสารคดี www.sarakadee.com
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม www.onep.go.th
- มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/publicize