สำรวจโลกของแสง เงา และคุณสมบัติทางยาของพืช
ในอดีตกาล บรรพบุรุษของเราได้สั่งสมภูมิปัญญาเก็บเกี่ยวพืชใต้ร่มไม้ใหญ่ในป่า มาใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งอาหาร และยารักษาโรค ซึ่งพืชป่าที่เกิดขึ้นใต้ร่มไม้ใหญ่ตามธรรมชาติก็ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นลักษณะทางธรรมชาติของพืชชนิดนั้น ๆ
พืชหลายชนิดสามารถปลูกหรือเกิดขึ้นเองได้ทั้งใต้แสงแดดจ้า และใต้ร่มไม้ ซึ่งการได้รับแสงที่แตกต่างกันส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพืชที่ได้รับแสงน้อยจะต้องไม่มีคุณภาพเสมอไป บทความนี้จะพาคุณมาสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของแสง และเงากับสารสำคัญในพืชที่มีคุณสมบัติทางยากัน
แสงและพืช
พืชล้วนต้องการแสงแดดในการสังเคราะห์แสงเพื่อเจริญเติบโต แต่นั่นก็ไม่จำเป็นว่าต้องได้แสงแดดตลอด หรือแดดจัดเสมอไป แต่เป็นแสงที่พอดี และเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด
นอกจากการเจริญเติบโตแล้ว แสงยังส่งผลต่อสารสำคัญ หรือสารเคมีที่มีคุณสมบัติทางยาตามธรรมชาติในพืชบางชนิดด้วย อย่างเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s Wort) พืชดอกทางฝั่งอเมริกา และยุโรปที่ปัจจุบันถูกนำมาใช้เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับคนที่มีอาการซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับ
โดยงานวิจัยพบว่าความเข้มข้นของแสงสัมพันธ์กับปริมาณสารไฮเปอริซิน (Hypericin) ที่เป็นสารออกฤทธิ์หลักในเซนต์จอห์นเวิร์ต ซึ่งช่วยควบคุมสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวกับอารมณ์ และความเครียด
พืชกลุ่มนี้จึงอาจเหมาะสมที่จะปลูกในพื้นที่ที่ได้รับแสงอย่างเพียงพอเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต และการผลิตสารสำคัญ หรือสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติทางยา
ร่มเงาและพืช
ร่มเงาที่กำลังพูดถึงนี้ ไม่ใช่การปลูกพืชที่ในทึบแสงจนไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ แต่ให้ลองจินตนาการถึงต้นไม้ หรือหญ้าต้นเล็ก ๆ ที่เติบโตอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่า ซึ่งได้รับแสงเพียงรำไรเท่านั้น
แต่แสงรำไรก็อาจเพียงพอแล้วที่ทำให้พืชเหล่านี้เติบโตมาเป็นพืชที่มีคุณภาพ ในทางชีววิทยาพบว่าพืชบางชนิดที่เติบโตใต้ร่มเงาอาจมีลักษณะการเอาตัวรอดที่พิเศษกว่าพืชที่ได้รับแดดอย่างสม่ำเสมอ อย่างขนาดใบที่ใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรับแสง หรือปริมาณคลอโรฟิลล์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นการสังเคราะห์แสงให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช และสภาพแวดล้อมโดยรอบด้วยเช่นกัน
อย่างชาเขียวที่คนชอบดื่มเพื่อดูแลสุขภาพ ในใบชาเขียวนั้นมีคาเทซิน (Cetechin) สารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่ขึ้นชื่อเรื่องการดูแลสุขภาพ และต้านการอักเสบของร่างกาย จากการทดลองบางส่วนพบว่าสารชนิดนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อปลูกในที่ร่ม
ในการศึกษาเดียวกันยังพบว่าการให้ร่มเงากับชาเขียว กระตุ้นการสร้างกรดอะมิโนมีประโยชน์ อย่างธีอะนีน (Theanine) ที่ช่วยผ่อนคลายสมอง นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มรสชาติอูมามิในชาเขียวได้ด้วย ดังนั้น การเติบโตใต้ร่มเงาจึงไม่เพียงแค่เพิ่มสารสำคัญที่มีประโยชน์ แต่ส่งผลดีในแง่รสชาติของพืชบางชนิด
อย่างกระชายดำ พืชยาท้องถิ่นของไทยที่ชื่นชอบร่มเงา โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งได้จำกัดแสงในการเติบโตของกระชายดำในหลายระดับเป็นเวลา 9 เดือน พบว่าการจำกัดแสงเหลือเพียง 70 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณแสงทั้งหมด ช่วยเพิ่มปริมาณของฟลาโวนอยด์ และเมธอกซีฟลาโวน (Methoxyflavone) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบก็สูงขึ้น
โสม ยาอายุวัฒนะในวัฒนธรรมเอเชีย อีกหนึ่งพืชตัวอย่างที่เติบโตได้ดีใต้ร่มเงา ที่มีงานวิจัยพบว่าการปลูกแบบจำกัดแสง อาจช่วยให้โสมมีปริมาณของจินเซนโนไซด์ (Ginsenoside) สูงขึ้น โดยจินเซนโนไซด์เป็นสารที่พบได้ในพืชตระกูลโสมเท่านั้น ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าช่วยในเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านอักเสบ และบำรุงสมอง
ทั้งหมดนี้อาจพอเป็นตัวอย่างได้ว่า แสง และเงาส่งผลต่อพืชได้มากกว่าการสังเคราะห์แสง หรือการเจริญเติบโตของพืช หากมองในแง่ของการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตแล้ว พืชที่ถูกปลูกภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอาจมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ได้
หญ้ายา พืชใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่จากจังหวัดน่าน
จังหวัดน่านมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าอนุรักษ์ และป่าสงวน ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องการบุกรุกป่าเพื่อทำมาหากินของผู้คนมาอย่างยาวนานหลายปี ซึ่งปัจจุบันได้มีการเริ่มแนวคิดในการสร้างพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สามารถปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ภายในป่าได้ หรือที่เรียกว่า ‘วนเกษตร’ โดยจะช่วยลดการถางป่า เพราะพืชเหล่านี้เติบโตได้ดีใต้ร่มเงา
พืชชนิดนี้เรียกว่า ‘หญ้ายา’ ที่หมายถึงพืชหลายชนิดที่ปลูกในป่าน่าน ที่มีการตรวจสอบ และควบคุมการปลูกด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์
เมื่อสารออกฤทธิ์ที่มีสรรพคุณทางยาในพืชที่ปลูกใต้ร่มไม้นั้นสูง ความเป็นไปได้ในการนำพืชยาเหล่านั้นไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพย่อมสูงขึ้น ซึ่งอาจทดแทนรายได้จากการทำเกษตรแบบเดิมที่ต้องอาศัยการถางป่าเพื่อทำไร่
ประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ การเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่จึงอาจช่วยเพิ่มคุณภาพของผลผลิตได้ อย่างไรก็ตาม พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ละเอียดอ่อน ซึ่งต้องอาศัยการดูแลในหลายมิติ ทั้งดิน น้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ระยะเวลาการเก็บเกี่ยว และอีกหลายปัจจัย ไม่ใช่แสงเงาเพียงอย่างเดียว ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยกมาเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น การนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาผสานและปรับให้เหมาะสมกับพืชและสภาพแวดล้อมการเพาะปลูกจึงมีความสำคัญอย่างมากในเกษตรกรรม
ที่มาของข้อมูล
- PubMed: “Historical review of medicinal plants’ usage”.
- PubMed: Effect of Light on Hypericins Contents in Fresh Flowering Top Parts and in an Extract of St. John’s Wort (Hypericum perforatum).
- Springer Open: Effect of far-red light on the production and diversity of ginsenosides in leaves of Panax ginseng Meyer.
- Science Direct: Influence of shading intensity on chlorophyll, carotenoid and metabolites biosynthesis to improve the quality of green tea: A review.
- Science Direct: Optimum shade enhances growth and 5,7-Dimethoxyflavone accumulation in Kaempferia parviflora Wall. ex Baker cultivars.
- สํานักงานการปฏิรูปเพื่อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม: วนเกษตร (Agroforestry)