พืชยาจากน่าน ภูมิปัญญาจากใจกลางขุนเขา และโอกาสในตลาดโลก
ลองนึกภาพว่าคุณกำลังนั่งอยู่ในรถสองแถว มุ่งหน้าขึ้นภูเขาสูงที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา เส้นทางคดเคี้ยวในอ้อมกอดของขุนเขาและสายหมอก ชวนให้จินตนาการว่าในป่าน่านที่แสนกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์นี้จะมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง สัตว์ป่า หรือพืชพรรณนานาชนิด
“พืชยาจากน่าน” หนึ่งในสิ่งที่แอบซ่อนตัวอยู่ในป่าเขาจังหวัดน่าน ที่ผู้คนในพื้นที่ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเสาะแสวงมาใช้เพื่อดำรงชีวิต ก่อเกิดเป็นกิ่งก้านของภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยพืช ที่ถูกส่งต่อผ่านกาลเวลา หากมองอย่างผิวเผิน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเพียงเรื่องราวปรัมปราของคนในอดีตที่ตกทอดมา แต่แท้จริงแล้ว พืชยาจากน่านหลายชนิดมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ
เดินทางสู่ใจกลางความมหัศจรรย์ของป่าน่าน
เมื่อคุณลงจากรถสองแถวหลังนั่งผ่านภูเขาน้อยใหญ่ หลังลงจากรถ และเดินเล่นไปตามตรอกซอกซอยของหมู่บ้านสักแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน คุณอาจพบกับพืชผักพื้นบ้านนานาชนิดที่ขึ้นตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี อาศัยเพียงแร่ธาตุในดิน น้ำที่บริสุทธิ์ แสงแดดและอุณหภูมิที่พอเหมาะ บ้างนำมาปรุงอาหาร บ้างนำมาทำยารักษาโรค
หากเดินลึกเข้าไปในป่า คุณอาจพบอะไรที่มากกว่านั้น ในอดีตการเก็บของป่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ การเสาะแสวงหาวัตถุดิบเพื่อดำรงชีพทำให้เกิดการลองผิดลองถูกและการค้นพบมากมาย หนึ่งในนั้น คือ การใช้พืชป่าเพื่อรักษาโรค ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเหล่านี้ถูกถ่ายทอดเมื่อมนุษย์สามารถสื่อสารกันได้ ตั้งแต่การบอกเล่า จนมาถึงการจดบันทึกในเอกสาร
พืชยาจากน่าน และการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
ใต้ต้นไม้สูงที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปกว้างใหญ่ มีเพียงแสงรำไรลอดผ่านใบไม้แน่นขนัดที่ปลิวไสว หากลองก้มมองที่พื้น คุณอาจพบกับพืชขนาดเล็กที่ลักษณะภายนอกดูเหมือนกันหมด แต่หากสำรวจลึกลงไป คุณจะพบกับความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้มอบให้
มาดูพืชยาที่คุณสามารถพบได้ในป่าน่าน และเป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาการรักษาโรคของคนในอดีต
1. ขมิ้นชัน
พืชพื้นบ้านของไทยที่พบได้ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพของผู้คนตั้งแต่ในอดีต เชื่อกันว่าช่วยบำรุงและรักษาสุขภาพได้ทั้งภายนอกและภายใน
ตามบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พบว่า ขมิ้นชัน สามารถช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด ใช้ทาเพื่อบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร หรือมีการใช้รูปแบบสารสกัดขมิ้นชันในการบรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อมได้
ในปัจจุบันขมิ้นชันกลายเป็นพืชที่มีความต้องการในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น เพราะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่าในขมิ้นชันมีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids) ซึ่งมีงานวิจัยและการศึกษาในผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมียชนิดไม่พึ่งพาเลือด (Non-transfusion Dependent Thalassemia) พบว่าสามารถช่วยลดความรุนแรงของภาวะเครียดออกซิเดชัน ใช้เสริมการรักษาเพื่อลดความรุนแรงของภาวะเหล็กเกินและภาวะอักเสบได้อีกด้วย
2. เชียงดา
ผักพื้นบ้านของทางเหนือ พืชยาจากจังหวัดน่านที่มีการใช้มาตั้งแต่ในอดีต ความโดดเด่นด้านสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในเลือด และยังสามารถรักษาอาการท้องผูกได้
โดยในเชียงดาพบสารสำคัญในกลุ่ม Triterpene glycosides ได้แก่ Gymnemic acids และอนุพันธ์ GiA ซึ่งอนุพันธ์เหล่านี้มีผลการทดสอบประสิทธิภาพในสัตว์ทดลอง พบว่า สามารถยับยั้งการขนส่งน้ำตาล ชะลอการดูดซึมน้ำตาล เพิ่มขนาดเซลล์ Islet of Langerhans ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอินซูลิน ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในสัตว์ทดลองลดลงได้
หากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเชียงดาให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามแนวทางการพัฒนายา จะทำให้เกิดโอกาสในการนำเชียงดาไปใช้ทางการแพทย์ได้ในอนาคต
3. งาขี้ม้อน
ธัญพืชเมล็ดจิ๋ว ของขึ้นชื่อจังหวัดน่าน ซึ่งมีวิธีการใช้แบบดั้งเดิมเพื่อบำรุงร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรง และแก้อาการท้องผูก รวมถึงมีการนำไปผสมกับพืชยาชนิดอื่น อย่างไพลเพื่อใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดเมื่อย
งาขี้ม้อนมีองค์ประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ วิตามินอี ในรูปของแกมมา-โทโคฟีรอล และเมื่อนำมาสกัดน้ำมันก็จะอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายชนิด เช่น โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และ โอเมก้า 9 ซึ่งมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาเบื้องต้น พบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ยับยั้งสารที่ก่อให้เกิดให้เกิดการอักเสบในระดับเซลล์อีกด้วย
นี่เป็นเพียงความมหัศจรรย์ส่วนหนึ่งของพืชหญ้าหลากหลายชนิดที่พบได้ในป่าน่าน ซึ่งช่วยให้คุณเห็นแล้วว่าองค์ความรู้ในการใช้พืชยาในการรักษาโรคของคนน่าน ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าปากต่อปาก หรือความเชื่อ เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ค่อย ๆ ทำให้สิ่งที่เคยเป็นความเชื่อโบร่ำโบราณที่เลือนรางปรากฏชัดขึ้น
พืชยาจากน่าน สู่การเติบโตในตลาดโลก
หากมนุษย์คนหนึ่งมีศักยภาพในตัวเองสูง แต่ไม่มีโอกาสในการแสดงศักยภาพ ความสามารถเหล่านั้นคงสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย พืชยาจากจังหวัดน่านก็เช่นเดียวกัน
ความมหัศจรรย์ของผืนป่าไม่เพียงเป็นที่ฟูมฟักพืชที่มีคุณสมบัติทางยา แต่ยังทำให้เกิดเรื่องราวมากมายที่ช่วยสร้างมูลค่าให้กับเหล่านั้น ทั้งสภาพอากาศ ความเป็นมาที่ยาวนาน การนำเรื่องราวและคุณสมบัติเหล่านี้ มานำเสนอสู่สายตาคนทั้งโลกผ่านการพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์
ปัจจุบัน เทรนด์การบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด องค์การอนามัยโลกมีข้อมูลทางสถิติที่บอกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพืชเติบโตเฉลี่ย 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
การผลักดันพืชยาจากน่าน หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลมาจากการต่อยอดผลผลิตเหล่านั้นให้มีโอกาสแสดงศักยภาพตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หรือแม้แต่ระดับโลก อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้มากมาย เกิดพืชเศรษฐกิจใหม่ ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร หรือแม้แต่ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่
ทว่าการเดินทางของ “พืชยาจากน่าน” ยังไม่ถึงปลายทาง เพราะความแตกต่างของคุณภาพวัตถุดิบในแต่ละแปลงยังเป็นอุปสรรคใหญ่ บางครั้งฝนตกไม่พร้อมกัน สารสำคัญก็อาจยังไม่เข้มข้น ความต้องการของพืชที่แตกต่างกัน หรือพืชบางชนิดยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกในระดับคลินิกว่าปลอดภัยแค่ไหนหรือใช้ปริมาณใดถึงเหมาะสม
ซึ่งวิทยาศาสตร์ และองค์ความรู้ในปัจจุบันเท่านั้นที่จะช่วยปลดล็อกความท้าทายเหล่านี้ และสร้างมาตรฐานในการปลูกพืชยาจากจังหวัดน่านให้อยู่ในระดับโลก
ในตอนนี้คุณกำลังนั่งรถสองแถวลงจากภูเขา เสียงลมเย็นผ่านใบไม้ และกลิ่นของต้นไม้ใบหญ้าที่คละคลุ้งยังติดอยู่ในความทรงจำ พืชยาจากน่านจะไม่ใช่การใช้สมุนไพรท้องถิ่นรักษาโรคอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องราวที่มีการเชื่อมโยงระหว่างคน ป่า ความเชื่อ วิทยาศาสตร์ อดีต ปัจจุบัน ทอดยาวไปยังอนาคต
ที่มาของข้อมูล
- Science Direct: “Chapter 1 – Herbal Medicine: Current Trends and Future Prospects”.
- สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์: “เอกสารทางวิชาการ ขมิ้นชัน Curcuma longa L.”.
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: “ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดา”.
- นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. “ม.มหิดล พบครั้งแรก สารสกัดจาก’เมล็ดงาม้อน’ต้านอักเสบ ต้านการก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่”.
- DisThai: “ผักเชียงดา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย”.
- DisThai: “งาขี้ม้อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย”.