ขมิ้นชัน แก้ปวดข้อได้ดีเท่ายาแก้ปวด?

ขมิ้นชัน (Turmeric) เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ไม่ว่าใครก็รู้จัก แม้บางคนจะไม่เคยใช้ แต่ก็คงพอทราบกันมาบ้างว่าพืชชนิดนี้อาจช่วยบรรเทาการเจ็บป่วยได้หลายอาการ ทั้งอาการจุดเสียดแน่นท้อง อาการท้องเสียจากการติดเชื้อ ปวดข้อ ลดระดับคอเลสเตอรอลที่เป็นอันตรายในเลือด และอื่น ๆ อีกมากมาย

แม้เราจะรู้จักสรรพคุณของขมิ้นชันและบางคนอาจใช้เป็นประจำ แต่ก็อาจไม่รู้ว่าเหง้าสีเหลืองส้มของพืชชนิดนี้มีมูลค่าในตลาดโลกถึง 5,659 ล้านบาทในปี 2021 และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ซึ่งการใช้ประโยชน์จากขมิ้นชันไม่ได้มีแค่ในไทย เอเชีย หรือกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางเท่านั้น แต่พืชชนิดนี้เป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลายในฝั่งตะวันตกและยุโรปด้วย

รูปแบบของการนำขมิ้นชันมาใช้ประโยชน์มีมากมาย ตั้งแต่การนำไปใช้เป็นเครื่องเทศ น้ำมันหอมระเหย บดผงเป็นยาสมุนไพร และนำไปสกัดเพื่อเอาสารสำคัญมาทำเป็นยาและอาหารเสริม โดยสารสำคัญที่เป็นเหตุผลให้พืชล้มลุกชนิดนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกคือ เคอร์คูมิน (Curcumin) หรือเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoid) ซึ่งในบทความนี้จะบอกเล่าความน่าสนใจของพืชชนิดนี้ให้ได้อ่านกัน

ขมิ้นชัน พืชสำคัญของชาวเอเชีย

หลายคนอาจสงสัยว่าขมิ้นชันกับขมิ้นเป็นพืชชนิดเดียวกันรึเปล่า คำตอบคือทั้งสองอย่างนี้คือพืชชนิดเดียวกัน และยังมีอีกหลายชื่อเรียกที่แตกต่างกันในแต่ละภาคของประเทศ โดยขมิ้นชันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L. เป็นพืชตระกูลเดียวกับขิง ทุกส่วนของขมิ้นชันมีสรรพคุณทางยา แต่ส่วนที่มีสารสำคัญสูงสุดและนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายคือส่วนเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ทั้งเหง้าสดและเหง้าแห้ง

ขมิ้นชันพบได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกหลายส่วนของเอเชีย ซึ่งขมิ้นชันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารและภูมิปัญญาในการรักษาโรคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของชาวเอเชีย

ศาสตร์การแพทย์โบราณอายุหลายพันปี อย่างตำราอายุรเวชของอินเดียและแพทย์แผนจีนมีการบันทึกถึงการใช้ขมิ้นชันในการรักษาโรคมากมาย หรือตำราแพทย์แผนไทยเองก็มีการนำขมิ้นชันมาใช้ดูแลสุขภาพ ทั้งนำมาต้ม มาบดมาปั้นเป็นยาลูกกลอน ไปจนถึงพอกผิว ในเรื่องของอาหาร ขมิ้นชันถูกนำมาสร้างสรรค์อาหารหลากหลายชนิด ในบางตำราก็ยังมีการใช้ขมิ้นชันเป็นส่วนประกอบในพิธีตามความเชื่อด้วย ด้วยเหตุผลนี้ ขมิ้นชันจึงเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่สำคัญของไทยและประเทศในแถบเอเชีย

ขมิ้นชัน แก้ปวดข้อได้ดีเท่ายาแก้ปวด?

ขมิ้นชันอุดมไปด้วยเคอร์คูมิน ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดสีเหลืองส้มที่ส่วนเหง้า ถูกค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ.1842 และได้รับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้น ปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับขมิ้นชันและสารเคอร์คิวมินกว่าหลายพันชิ้น

อาการปวดข้อเป็นผลมาจากการอักเสบของเซลล์ โดยอาจมาจากกระดูก กล้ามเนื้อ หรือระบบประสาท ซึ่งคุณสมบัติหลักของสารเคอร์คูมินคือการต้านอักเสบได้เป็นอย่างดี จนทำให้สารเคอร์คูมินได้รับการยอมรับจนได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาจากพืชที่สามารถใช้รักษาอาการปวดข้อเข่าแทนการใช้ยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน

การทดสอบในมนุษย์หลายชิ้นได้เทียบฤทธิ์ในการต้านอักเสบของเคอร์คูมินกับยาแก้อักเสบกลุ่มไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) อย่างไดโคลฟีแนค (Diclofenac) และไอบูโฟรเฟน (Ibuprofen) พบว่าเคอร์คูมินมีฤทธิ์ต้านอักเสบและแก้ปวดข้อในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบได้เทียบเท่ากับยาเคมีสังเคราะห์ ทั้งยังมีผลข้างเคียงจากการใช้ต่ำกว่า ในประเทศไทย แพทย์จึงสามารถสั่งจ่ายสารสกัดขมิ้นให้กับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบชนิดต่าง ๆ แทนการใช้ยาแก้อักเสบได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยคุมอาการได้ดีและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงน้อยลง

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าสารสกัดเคอร์คูมินอาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายด้าน อย่างแก้จุกเสียดแน่นท้อง ลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ลดไขมันในเลือด และช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าได้ด้วย แต่ประโยชน์เหล่านี้ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมขมิ้นชันเป็นพืชที่มีศักยภาพในการแปรรูปเป็นนวัตกรรมสุขภาพที่มีประโยชน์อีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป และเพื่อการใช้อย่างปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งใช้ทุกครั้ง

ขมิ้นชันไทยไปเวทีโลก

เราได้บอกแล้วว่าขมิ้นชันเป็นพืชที่มูลค่าในตลาดโลกสูงมาก ไทยเราเองก็มีการส่งออกขมิ้นชันเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเทียบกับเจ้าใหญ่ในตลาดสมุนไพรโลกอย่างอินเดียแล้ว การส่งออกขมิ้นชันของไทยถือว่าน้อยมาก แต่ข้อได้เปรียบของเราคือภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพ

หากไปสู้เรื่องปริมาณการส่งออกอาจไม่สามารถทำได้ แต่หากเรานำขมิ้นชันมาพัฒนาให้กลายเป็นนวัตกรรมสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากลในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับขมิ้นชันของไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมาตรฐานการปลูก การปรับปรุงสายพันธุ์ หรือการสร้างความรู้ในปลูกให้แก่เกษตรกรตามคำแนะนำของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของ ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยให้ความเห็นในเรื่องของการพัฒนายาจากพืชไทยไปเวทีโลกว่า “การนำพืชมาอบแห้งแล้วบดผงใส่แคปซูลเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ แต่ถ้าเราอยากไปเวทีโลก เราต้องสร้างนวัตกรรมสุขภาพขึ้นมาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราพิเศษและแตกต่างจากที่อื่น ถึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด”

ปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากขมิ้นชัน เราพบหลัก ๆ ได้ 2 รูปแบบ แบบสมุนไพรคือการบดผงแล้วบรรจุเป็นเม็ด กับแบบสารสกัดเคอร์คูมินเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากมองเผิน ๆ อาจดูคล้ายกัน แต่ถ้าศึกษาให้ลึกลงไปแล้ว การเลือกใช้เฉพาะสารสกัดจะให้ผลที่ดีกว่า เพราะประโยชน์ที่ได้ยกตัวอย่างมาจากการศึกษาสารสกัดทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นการใช้แบบยาสมุนไพร

แต่สารสกัดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หนึ่งในปัญหาของสารเคอร์คูมินคือเป็นสารที่ดูดซึมได้ยาก หากเรานำปัญหานี้มาวิเคราะห์และพัฒนาด้วยการนำสารอื่นที่มีฤทธิ์ช่วยเสริมการดูดซึมหรือเสริมประสิทธิภาพให้กับสารสกัดเคอร์คูมินก็อาจเกิดเป็นนวัตกรรมสุขภาพชิ้นใหม่ที่ส่งออกได้และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชไทยอย่างขมิ้นชันได้อย่างมหาศาล

ซึ่งในส่วนของโครงการหญ้ายาเองก็มีจุดมุ่งหมายที่จะนำข้อมูลของพืชในตำรายาโบราณมาพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ โดยขมิ้นชันก็เป็นหนึ่งในนั้น และหากดูจากงานวิจัยที่หลากหลาย ความเป็นไปได้ในการสร้างนวัตกรรมสุขภาพจากขมิ้นชันให้เป็นของไทยเองก็ดูไม่ไกลเกินเอื้อม

สุดท้ายนี้ สรุปได้ว่าสารสกัดขมิ้นชันแก้ปวดข้อได้ดีเทียบเท่ายาแก้ปวด ซึ่งหากนำขมิ้นชันมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมสุขภาพก็คงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลของไทยได้เป็นอย่างมาก และยังได้สินค้าไทยที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลกอีกด้วย