ความบริสุทธิ์ของแหล่งน้ำ สู่คุณภาพของพืช และความยั่งยืน
น้ำ เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือพืช น้ำช่วยเติมเต็ม และหล่อเลี้ยงทั้งร่างกาย และวิถีชีวิต ในกรณีของพืช น้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อคุณภาพ และปริมาณของผลผลิตที่ได้จากพืช
แต่ท่ามกลางโลกที่หมุนด้วยระบบทุนนิยม การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และความต้องการด้านอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ของเสีย และสารเคมีจากอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน แต่ส่งผลต่อคุณภาพของพืชด้วย
เช่นเดียวกับมนุษย์ ที่หากอยู่ท่ามกลางมลพิษ ร่างกายย่อมสะสมสารพิษจนเกิดปัญหาสุขภาพตามมา หากพืชเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ใกล้แหล่งน้ำที่ปนเปื้อน พืชย่อมดูดซึมสารพิษเหล่านั้นเอาไว้ การนำพืชที่ปนเปื้อนมาบริโภคจึงส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ และสัตว์ได้
บทความนี้จะนำเสนอความสำคัญของคุณภาพแหล่งน้ำต่อคุณภาพของพืช โดยใช้จังหวัดน่านเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และปริมาณสารปนเปื้อนในพืชที่ปลูกด้วย อันจะนำไปสู่ความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งน้ำให้มีคุณภาพที่ดี เพื่อให้ได้ผลผลิตพืชที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค
ความสำคัญของแหล่งน้ำต่อคุณภาพของพืช
น้ำถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช พืชต้องการน้ำสำหรับใช้ในกระบวนการต่างๆ ทั้งการสังเคราะห์ด้วยแสง การเติบโต และการลำเลียงธาตุอาหารจากดินขึ้นไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของพืช นอกจากนี้ น้ำยังช่วยให้พืชแข็งแรง ลดการสูญเสียน้ำ และป้องกันความเสียหายจากความร้อนและแสงแดด
คุณภาพน้ำที่ดี และความบริสุทธิ์ของแหล่งน้ำยังส่งผลต่อสารสำคัญ หรือสารเคมีธรรมชาติที่มีคุณสมบัติทางยาของพืชบางชนิดได้ด้วย การศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่ามลพิษในน้ำ โดยเฉพาะโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง และสารเคมีจากครัวเรือน สามารถรบกวนการสร้างสารสำคัญของพืช และกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อย่างโรคหัวใจ และโรคมะเร็งได้
อย่างข้อมูลชุดหนึ่งจากมหาวิทยาลัยลัคเนา (University of Lucknow) ประเทศอินเดีย ที่ถูกใช้อ้างอินในงานวิจัยอื่นหลายชิ้น พบว่าโลหะหนักส่งผลต่อปริมาณสารมาเดคาสโซไซด์ (Madecassoside) และสารเอเชียติโคไซด์ (Asiaticoside) ในใบบัวบกที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบมีปริมาณลดลง ทั้งยังสะสมโลหะหนักไว้ในต้นพืช
แต่ในขณะเดียวกันน้ำที่สารปนเปื้อนต่ำ และแร่ธาตุสมดุลอาจช่วยเพิ่มคุณภาพของพืชบางชนิด และยังช่วยเพิ่มปริมาณสารสำคัญที่มีคุณสมบัติทางยาได้ด้วย
นอกจากความสะอาด และแร่ธาตุแล้ว แหล่งน้ำ หรือน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อคุณภาพของพืชอย่างค่าความเป็นกรดด่าง และจุลินทรีย์ในแหล่งน้ำ จากที่ข้อมูลทั้งหมดนี้พอช่วยให้เราเห็นความละเอียดอ่อน และมิติที่หลากหลายถึงผลของน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกต่อคุณภาพของพืช
การนำพืชที่มีปริมาณสารปนเปื้อนสูงไปบริโภคสามารถสะสมในร่างกายของคนเรา และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้น การมีคุณภาพของน้ำที่ดีและปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อความสมบูรณ์และคุณภาพของพืช ซึ่งจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสำหรับผู้บริโภค
กรณีศึกษาคุณภาพน้ำในจังหวัดน่าน
จังหวัดน่านมีความหลากหลายทางธรรมชาติ ทั้งพื้นที่ภูเขา ป่าไม้ แหล่งน้ำ ทั้งยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเกษตรกรรมในพื้นที่ ทั้งการปลูกข้าว ผัก ไม้ผล และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ในจังหวัดอีกหลายชนิด
จากการศึกษาคุณภาพน้ำแหล่งน้ำจังหวัดน่านโดยกรมควบคุมมลพิษที่ใช้เกณฑ์ WQI (Water Quality Index) พบว่าคุณภาพของแหล่งน้ำในจังหวัดน่านมีคุณภาพน้ำเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ดีตลอดทั้งปี แต่คุณภาพน้ำผิวดิน อย่างแม่น้ำ ลำธาร หรืออ่างเก็บน้ำนั้นลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากสารปนเปื้อน อย่างปุ๋ย และสารเคมีทางการเกษตร เนื่องจากผู้คนจังหวัดน่านทำเกษตรกรรมเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม จังหวัดน่านยังคงเป็นแหล่งเพาะปลูกชั้นดีของพืชหลากหลายชนิด ทั้งพืชเศรษฐกิจ และพืชผลทั่วไป
แนวทางการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ณ จังหวัดน่าน
จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ แหล่งน้ำส่วนใหญ่จึงมาจากต้นน้ำในป่าน่าน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ป่าน่านลดลงไปกว่าล้านไร่จากการถางป่าเพื่อทำพื้นที่การเกษตรเลี้ยงปากท้อง แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามีการตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการถางป่า ส่งผลให้เกิดแนวคิดและโครงการมากมายที่ช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกอย่างยั่งยืนภายในพื้นที่ป่าน่าน
ทั้งการปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยน้ำ ซึ่งปราศจากสารตกค้าง และให้ผลผลิตที่ดี การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้ยางธรรมชาติ จุลินทรีย์สลายสารเคมีปนเปื้อนในดิน และอื่น ๆ อีกมากมาย
หนึ่งในนั้น คือ หญ้ายา แนวคิดการสร้างพืชเศรษฐกิจใหม่โดยอาศัยศักยภาพของจังหวัดน่านใน 6 มิติ โดยเป็นการนำพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่มีการจดบันทึกไว้ในตำราล้านนาโบราณ ซึ่งมีหลายชนิด มาพิสูจน์และขยายผลด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์
เมื่อพิสูจน์แล้วจะนำพืชนั้นไปผ่านการสกัดสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางยาเพื่อนำไปพัฒนาต่อ แนวทางของหญ้ายา คือ พืชยาที่ปลูกในจังหวัดน่าน เติบโตบนดินน้ำ รดด้วยน้ำน่าน
อีกหนึ่งลักษณะสำคัญของหญ้ายา พืชยาที่สามารถปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่าน่านได้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการถางป่าเพื่อปลูกพืชไร่ เมื่อหญ้ายาสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพได้จะสามารถช่วยสร้างรายได้ที่เพียงพอให้กับคนในพื้นที่ทดแทนการถางป่า ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า และความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดน่าน สร้างความยั่งยืนให้กับป่า แหล่งน้ำ และผู้คน
ที่มาของข้อมูล
- MDPI: “Medicinal Plant Growth in Heavy Metals Contaminated Soils”.
- Science Direct: “Heavy metal accumulation efficiency, growth and centelloside production in the medicinal herb Centella asiatica”.
- University of Massachusetts Amherst: “Water Quality for Crop Production”.
- กรมควบคุมมลพิษ: “รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม”
- สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร: “ARDA ลงพื้นที่เยี่ยมชมการปลูกพืชยาใต้ป่า ภายใต้โครงการน่าน แซนด์บอกซ์ เล็งนำนวัตกรรมร่วมชุบชีวิตป่าน่าน”.