เส้นทางสู่ความเป็น “หญ้ายา”

“หญ้ายา” หรือ พืชที่มีสรรพคุณทางยา มีที่มาจากจังหวัดน่าน เป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ให้ได้ยาที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับยาแผนปัจจุบัน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ากว่าจะเป็น “หญ้ายา” ในวันนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เราจะพาทุกคนเรียนรู้ เส้นทางสู่ความเป็น “หญ้ายา” ไปพร้อม ๆ กัน 

1.ปัญหาป่าน่านถูกทำลาย 

พื้นที่ของจังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ป่ากว่า 80% และอาชีพดั้งเดิมของชาวจังหวัดน่านก็คือ อาชีพเกษตรกร ปัจจุบันจังหวัดน่านประสบปัญหาพื้นที่ป่าถูกทำลายไปถึง 28% จากการเผาทำลายป่าเพื่อประกอบอาชีพ

2.สาเหตุและที่มาการเผาทำลายป่า 

การเผาทำลายป่ามีที่มาหลังจากเกิดการประกาศใช้กฎหมายครอบลงในพื้นที่ป่า ทำให้ป่าน่านกลายเป็นป่าสงวน ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านทำมาหากินได้ แต่ด้วยการทำมาหากินบนโลกทุนนิยมชาวบ้านจึงไม่สามารถเลี่ยงการประกอบอาชีพแบบดั้งเดิมได้ และการปลูกพืชที่นิยมในตอนนี้ก็คือพืชเศรษฐกิจที่ได้ราคาต่ำ ไม่คุ้มค่ากับป่าที่ต้องสูญเสียไป

3.ก่อเกิดโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์”

กว่าหลายปี คุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาป่าน่านเพื่อให้คนสามารถทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวได้ควบคู่ไปกับการรักษาไว้ซึ่งป่าต้นน้ำน่าน ก่อเกิดโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยแนวทางการปฏิบัติคือ แบ่งพื้นที่ป่าเป็น 72:18:10 โดยโมเดลการแก้ไขปัญหานี้ได้ถูกบันทึกลงในยุทธศาสตร์ชาติ

  • 72% คือ ให้ยังเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ตามรายชื่อที่กรมป่าไม้กำหนด
  • 18% คือ กลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ตามรายชื่อที่กรมป่าไม้กำหนด และอนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ้ได้ 
  • 10% คือ ยอมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องปลูกต้นไม้สูง แต่ยังคงความเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย

4.กำหนดแนวทางแก้ปัญหา 

แนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด ไม่ใช่เพียงการมุ่งเน้นให้ป่ากลับคืนมาเท่านั้น แต่คือการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรจังหวัดน่าน ให้สามารถทำมาหากินอยู่ร่วมกับป่าได้ และแนวทางที่กำลังถูกผลักดันนั่นคือ การปลูกพืชที่มีสรรพคุณทางยาใต้ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งในอดีตชาวบ้านได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางป่าเขา จึงก่อเกิดภูมิปัญญาในการรักษาโรคด้วยพืช 

5.“หญ้ายา” ยาจากพืชสมัยใหม่  

เมื่อทุกคนเห็นคุณค่าของพืชที่มีสรรพคุณทางยา เส้นทางต่อไปคือการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอดด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ยาที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายได้รับรู้และเข้าใจความหมายและคุณค่าของ “หญ้ายา” ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะ “หญ้ายา” จะกลายเป็นความหวังในการพลิกฟื้นคืนป่าน่านไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้คน

Post a comment