‘ปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่’แก้ปัญหาป่าน่าน คนรอด-ป่ารอด
อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับชาวจังหวัดน่านมาตั้งแต่อดีต และปัจจุบันหลายครอบครัวก็ยังคงยึดอาชีพนี้ในการหาเลี้ยงชีพ แต่ด้วยพื้นที่ของจังหวัดน่านเป็นป่าสงวนถึง 85% ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือก และต้องเข้าปลูกพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวน ก่อเกิดปัญหาป่าถูกทำลายตามมาอย่างยาวนาน โดยผลผลิตทางการเกษตรที่ผ่านมาเป็นพืชที่ให้มูลค่าต่ำไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ที่สำคัญต้องสูญเสียป่าไปอย่างไม่ควรจะเป็น
ขณะเดียวกัน แนวทางที่ตอนนี้กำลังได้รับการสนับสนุนให้ชาวเกษตรกรจังหวัดน่านหันมาทดลองปลูกนั่นคือ ‘พืชที่มีสรรพคุณทางยา’ หรือ หญ้ายา ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นรอบ ๆ ต้นไม้ใหญ่ของพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน โดยเรื่องราวของสรรพยาในป่าน่านและการนำพืชมาใช้รักษาโรคมีบันทึกเป็นหลักฐานบนใบลานมากว่า 700 ปี และนี่จึงเป็นจุดแข็งที่ชาวเกษตรกรจังหวัดน่านควรหันมาริเริ่มปลูกพืชที่มีสรรพคุณทางยา ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทะลายโจร , ขมิ้นชัน , พรหมมิ และอีกมากมายที่สามารถพบได้ในป่าเขา
ปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือ ชาวบ้านไม่มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นของตนเอง ก่อเกิดโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ โครงการที่ให้ทุกฝ่ายมาร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาป่าน่าน โดยโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ได้ทดลองจัดสรรพื้นที่ป่าสงวนเป็น 72 :18 :10 กล่าวคือ 72% ให้ยังเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ตามรายชื่อที่กรมป่าไม้กำหนด, 18% กลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ตามรายชื่อที่กรมป่าไม้กำหนดว่าเป็นต้นไม้ในป่าสงวน แต่อนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ้ได้ และ 10% ยอมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเต็มที่แต่ยังคงความเป็นป่าสงวนโดยกฎหมาย ดังนั้น เกษตรกรก็จะมีพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชได้ รวมถึงแนวทางในการปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ถือเป็นแนวทางที่น่าทดลองอย่างยิ่ง
ยกตัวอย่าง การปลูก หญ้ายา ได้แก่ ต้นฟ้าทะลายโจร และต้นขมิ้นชัน ที่ได้ทดลองปลูกในหลากหลายรูปแบบ ทั้งปลูกในโรงเรือน ปลูกในกระถาง และปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ วิเคราะห์ตั้งแต่อุณหภูมิในพื้นที่ แสงแดดที่พืชได้รับ รวมไปถึงปริมาณการรับน้ำเพื่อการเจริญเติบโตของพืช เพื่อเปรียบเทียบว่าการปลูกในลักษณะใดจะทำให้พืชมีสารสำคัญในการรักษาโรคสูงสุด และการปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่มีแนวโน้มว่าจะทำให้พืชเจริญเติบโตงอกงามได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หากสำเร็จก็จะนำไปสู่ไปเป้าหมาย คือ ชาวบ้านสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ได้และสามารถหารายได้โดยไม่ต้องทำลายพื้นที่ป่าสงวนแต่เป็นการอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างพึ่งพาอาศัยกัน
อย่างไรก็ตาม การหันมาสนับสนุนให้ชาวบ้านเลือกปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่ตามการจัดสรรพื้นที่ป่าของน่านแซนด์บ็อกซ์นั้น ก็ยังคงต้องศึกษาเรื่องพืชที่นำมาปลูก ต้องเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่สามารถเติบโตได้แม้จะอยู่ในพื้นที่แสงแดดเข้าถึงน้อย และสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องอาศัยน้ำมาก ที่สำคัญต้องเป็นพืชที่ไม่กินพื้นที่ป่า โดยการปลูกพืชที่มีสรรพคุณทางยาใต้ต้นไม้ใหญ่นั้นตั้งเป้าว่าจะรบกวนพื้นที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ของป่าสงวนเพียงครอบครัวละ 1-2 ไร่เท่านั้น ที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องตัดไม้หรือถางพื้นที่ป่าเพิ่มเติมก็สามารถปลูกได้
เมื่อผลผลิตงอกเงยสิ่งที่ตามมาคือการนำผลผลิตนั้น ๆ ไปเพิ่มคุณค่าด้วยการสกัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การอัดแห้งหรือบดผงเหมือนในอดีต แต่การจะเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของพืชที่มีสรรพคุณทางยาได้นั้น ต้องผ่านการวิเคราะห์ วิจัย และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้ได้สารสำคัญที่ดีที่สุด สามารถรักษาอาการป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเทียบเท่ายาสมัยใหม่ โดยท้ายที่สุดแล้วต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนายาจากพืชให้กลายเป็นยาสมัยใหม่ที่แพทย์มั่นใจว่ารักษาโรคได้จริง และกล้าจ่ายยาให้ผู้ป่วย เมื่อแนวคิดเหล่านี้สำเร็จ จังหวัดน่านก็จะกลายเป็นจังหวัดที่ถูกพูดถึงในฐานะจังหวัดที่มี หญ้ายา หรือ ‘พืชที่มีสรรพคุณทางยา’ ที่มีประสิทธิภาพ ผู้คนก็สามารถมีรายได้จากการปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่ ไม่ทำลายป่าสงวนเพิ่มเติม และหากป่าต้นน้ำน่านกลับมาอุดมสมบูรณ์ก็จะนำพาความอุดมสมบูรณ์นี้สู่ชาวไทยทั้งประเทศให้ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน