จาก ‘สรรพยา’ ในป่าน่าน สู่ ‘หญ้ายา’
ยา เป็นปัจจัยสี่ในชีวิตของมนุษย์ แม้ว่าวิถีชีวิตของแต่ละคนจะแตกต่างกันแต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้นั่นคืออาการเจ็บป่วย และนอกจากแพทย์ พยาบาลแล้วสิ่งสำคัญนั่นก็คือ ‘ยา’ ที่ใช้รักษาโรค ซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปการเข้าถึงยาของผู้คนเริ่มสะดวกมากขึ้น รวมถึงคุณภาพของยาก็ได้รับการพัฒนาตามยุคสมัย แต่จะดีกว่าหรือไม่หากคนไทยเราสามารถใช้ยาที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ภายในประเทศ ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงต่อการใช้ยาจากเคมี
ในอดีตมนุษย์มีความผูกพันกับป่าและอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่เป็นพื้นที่ป่าถึง 85% การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าย่อมเห็นประโยชน์และคุณค่าของป่าที่คนในเมืองอาจไม่เคยเห็น เรากำลังจะพูดถึงตำรับยาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานถึง 700 ปีของคนน่าน ที่เริ่มจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในป่าเมื่อเจ็บป่วยก็จำเป็นต้องหายารักษาโรคในป่าเช่นกัน จึงสามารถพูดได้ว่าป่ามี ‘สรรพยา’ ซ่อนอยู่เพียงแต่ปัจจุบันผู้คนอาจจะลืมเลือนไป
‘สรรพยา’ สมบัติล้ำค่าในป่าเขา
‘สรรพยา’ หรือพืชที่มีสรรพคุณทางยาสามารถพบเจอได้ในป่าทั่วประเทศ แต่ที่เราต้องหยิบยกป่าในพื้นที่จังหวัดน่านมาพูดถึง นั่นเป็นเพราะว่าจังหวัดน่านเป็นป่าสงวนตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ถึง 6,435,792 ไร่ (85% ของพื้นที่จังหวัดน่าน) และเป็นป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งของประเทศไทยที่ไม่เพียงแต่ให้ความอุดมสมบูรณ์ส่งต่อให้กับคนไทยทั่วประเทศเท่านั้น แต่ป่าน่านยังเป็นป่าสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของ ‘สรรพยา’ ใต้ต้นไม้ใหญ่อีกด้วย
ที่ผ่านมาชาวบ้านอาจมีการนำสรรพยาเหล่านี้มาต้มดื่ม บดผง หรือสารพัดวิธีที่ใช่ในการรักษาโรค แม้ไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด แต่ชาวบ้านก็อาศัยการคาดเดาและสังเกตสรรพคุณบ่งชี้ของพืชแต่ละตัว ซึ่งที่ผ่านมาผู้คนในอดีตก็สามารถรักษาโรคได้ด้วยตัวยาที่มีอยู่ในป่า หรือแม้แต่ปัจจุบันผู้คนที่อาศัยอยู่บนเขาบนดอยการแพทย์เข้าถึงยาก ก็ยังคงเอาตัวรอดด้วยการใช้พืชในการรักษาโรค แต่ทั้งนี้ยาจากพืชอาจยังไม่ได้รับความนิยมในระดับสากลนัก ก่อเกิดแนวทางในการหันมาพัฒนาพืชที่มีสรรพคุณทางยาของป่าน่าน ให้มีประสิทธิผลในการรักษาโรคครอบคลุมและปลอดภัยมากกว่าในอดีต
อาชีพเกษตรกรของคนน่าน
อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน รวมถึงคนน่านเองส่วนใหญ่ก็มีอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก การปลูกพืชที่มีสรรพคุณทางยาในอดีตก็มีผู้คนสนใจเช่นกัน แต่ข้อจำกัดในช่วงที่ผ่านมา คือ ผู้คนสามารถปลูกพืชได้จริงแต่ไม่สามารถนำส่งออกขายให้ได้รายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ เพราะเมื่อปลูกสำเร็จแต่การส่งออกราคาถูก การจะแปรรูปเป็นยาก็ทำได้เพียงลักษณะการบดผง หรืออบแห้งเท่านั้ัน และเมื่อรายได้ไม่เพียงพอจึงไม่ผิดที่ชาวบ้านจะต้องหาแนวทางเลี้ยงชีพตนเองต่อไป และพืชที่ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าจะสร้างรายได้ให้กับพวกเขาอาจจำเป็นต้องแลกมาด้วยป่า ซึ่งนั่นไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน และการจะหาทางออกให้ชาวบ้านได้นั่นคือเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ด้วยการให้ความีรู้ และผลักดันให้ทุกคนเห็นคุณค่าของสรรพยาในป่าอีกครั้ง
จากสรรพยาสู่ ‘หญ้ายา’
แม้ว่าสรรพยาจะมีขึ้นตามธรรมชาติ แต่การจะทำให้สรรพยาเหล่านั้นมีคุณค่าในแง่การรักษาโรคที่แพทย์ พยาบาล ให้ความเชื่อมั่นได้จะต้องอาศัยหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกในโรงเรือน ปลูกในกระถาง หรือแม้แต่การปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่เหมือนกับแหล่งต้นกำเนิดของพืชนั้น ๆ นำไปสู่การเปรียบเทียบว่าเมื่อปลูกพืชในสถานที่ที่ต่างกัน อุณหภูมิ และการให้น้ำที่ต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้จะต่างกันมากน้อยแค่ไหน และสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยาจะมีมากเมื่อปลูกในลักษณะใด การทดลองต่าง ๆ จะสำเร็จไม่ได้หากปราศจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในแต่ละขั้นตอน ไปจนสู่การวิเคราะห์สารสำคัญที่อยู่ในตัวพืช เพื่อให้มั่นใจว่ามีฤทธิ์ในการรักษาโรค และต้องใช้ในปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับที่ร่างกายมนุษย์ควรได้รับ
เมื่อเสร็จสิ้นทุกกระบวนการแล้ว เหล่าสรรพยาบางชนิดที่เคยถูกใช้เป็นยาหม้อหรือยาบดผงอัดแคปซูลในอดีต ก็จะได้รับการยกระดับเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็น “หญ้ายา” พืชที่สามารถสกัดเอาเฉพาะสารสำคัญออกมาผลิตให้เป็นยาสมัยใหม่ที่มีคุณสมบัติ และมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน และยังปลอดภัยเพราะมาจากธรรมชาติอันบริสุทธิ์อีกด้วย