ทำไมต้องเป็นหญ้ายา?

หญ้ายา พืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ต่างจากพืชยาแบบดั้งเดิมที่หลายคนรู้จัก หญ้ายาไม่ได้หมายถึงพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่หมายถึงพืชที่มีที่มา เรื่องราว และลักษณะที่เฉพาะเจาะจง แล้วทำไมต้องเป็นเช่นนั้น บทความนี้มีคำตอบ

เพราะเกิดจากป่าน่าน…

ป่าน่านเป็นหนึ่งในป่าต้นน้ำแหล่งสำคัญของประเทศไทย ผลิตมวลน้ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์สู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่าในปัจจุบันพื้นที่ป่าและต้นไม้ในป่าต้นน้ำน่านจะลดลงจากกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ป่าน่านยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่

คุณสมบัติของหญ้ายา คือ ต้องเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ดีต่อสุขภาพและปลอดภัย โดยมีสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ที่เป็นตัวยาสูงและปลอดจากสิ่งปนเปื้อน เช่น สารเคมีที่เป็นพิษ โลหะหนัก และเชื้อโรค สภาพแวดล้อมในการปลูกหญ้ายาจึงเป็นสิ่งสำคัญ

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหญ้ายาต้องมาจาก ‘ป่าน่าน’ เพราะป่าน่านนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุในดินที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช และน้ำที่บริสุทธิ์ที่มาจากแหล่งต้นน้ำจึงอาจมีปริมาณของสารปนเปื้อนที่น้อยกว่า

เพราะเป็นการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม

หญ้ายา มีต้นกำเนิดส่วนหนึ่งมาจากองค์ความรู้ในอดีตของบรรพบุรุษคนน่าน ซึ่งมีความเป็นมากว่า 700 ปี และมีบันทึกโบราณที่จารึกไว้เป็นภาษาล้านนาหลายฉบับ หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ คือ ตำรับยาที่ใช้พืชป่าในการรักษาโรค

แนวทางหนึ่งของหญ้ายา คือ การหยิบเอาตำรับยาโบราณที่คนน่านในอดีตเคยใช้และได้บันทึกไว้มาชำระหรือทำให้กระจ่าง และเรียบเรียงออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจได้ในปัจจุบัน จากนั้นนำไปเทียบเคียงกับพืชที่ท้องถิ่น ซึ่งอาจมีชื่อเรียกที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาเพื่อระบุตำรับยาและสรรพคุณที่ผู้คนในอดีตเคยเชื่อ

โดยพืชในตำรับยาเหล่านั้นจะถูกนำมาพิสูจน์สรรพคุณด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่ ซึ่งก็คือ ‘วิทยาศาสตร์’ อย่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การใช้หลักเภสัชศาสตร์เพื่อหาสารสำคัญ และยืนยันประโยชน์ของพืชเหล่านั้น หลังจากนั้นพืชเหล่านี้จะถูกพัฒนาด้วยความรู้ทางการเกษตรสมัยใหม่เพื่อให้ได้พืชที่มีสารสำคัญสูงสุด และสารปนเปื้อนต่ำ ประกอบกับการปลูกพืชเหล่านี้บนผืนป่าน่านที่มีความอุดมสมบูรณ์

หญ้ายาจึงเป็นพืชที่มีความพิเศษในแง่ของการรับรู้ว่าคือพืชที่ผ่านการพัฒนาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้สมัยใหม่ในทุกมิติ แต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายดั้งเดิม

เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นป่าน่าน

แม้ว่าป่าน่านยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ แต่จากข้อมูลป่าน่านนั้นมีจำนวนลดลงหลายล้านไร่เมื่อเทียบกับในอดีต ในช่วง พ.ศ. 2530–2548 พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่านลดลงเฉลี่ยปีละ 20,300 ไร่ และในช่วงปี พ.ศ. 2548–2554 ลดลงเฉลี่ยปีละ 48,600 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในระยะเวลาไม่กี่สิบปี

ปัจจุบันเราจึงเห็นโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูป่าน่านให้กลับคืนมาเพื่อป้องกันผลกระทบด้านทรัพยากรป่าและน้ำ และยังช่วยรักษาความสวยงามของธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้

การปลูกหญ้ายาและกลไกของหญ้ายาถูกออกแบบมาเพื่อสร้างพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูงที่สามารถปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่าได้เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยรบกวนป่าผืนนี้น้อยที่สุด

ด้วยพลังของต้นไม้และธรรมชาติ หากไม่เข้าไปรบกวนกลไกการฟื้นฟู ป่าสามารถฟื้นคืนกลับมาและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยการปลูกป่า ดังนั้น แนวคิดของหญ้ายาคือให้ป่าได้พักผ่อนมากที่สุด ก่อนจะพลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

วารสารวิชาการแก่นเกษตร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร