4 สรรพประโยชน์ของขมิ้นชันจากงานวิจัยและวิธีใช้ให้ปลอดภัย

ขมิ้นชัน พืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ประเทศไทยมีการปลูกขมิ้นชันในหลายพื้นที่ ซึ่งพืชชนิดนี้อยู่ในวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน ตั้งแต่การนำไปประกอบอาหาร ใช้ย้อมสี ใช้เพื่อการดูแลผิวพรรณ ตลอดจนใช้เพื่อรักษาโรคตามที่มีการบันทึกในตำรายาโบราณที่สืบทอดและใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

สรรพคุณขมิ้นชันจากงานวิจัย

แม้จะเป็นพืชพื้นบ้านของไทยและประเทศในแถบเอเชีย แต่ขมิ้นชันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก เพราะหลากหลายสรรพคุณของขมิ้นชันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. บรรเทาอาการปวดข้อเรื้อรัง

โรคข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยและส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก พบได้บ่อยในคนสูงอายุ สาเหตุก็มาจากการที่เซลล์กระดูกเสื่อมและอักเสบจากปัจจัยต่าง ๆ

สรรพคุณต้านอักเสบและลดอาการปวดข้อของสารเคอร์คูมิน (Curcumin) สารสำคัญที่ทำให้เกิดสีเหลืองในส่วนเหง้าของขมิ้นชันได้รับการศึกษามาเป็นเวลานานว่าสามารถลดอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเรื้อรังได้เทียบเท่ากับยาต้านอักเสบในกลุ่มไม่มีสเตียรอยด์ (Nsaids) อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และไดโคลฟีแนค (Diclofenac)

ซึ่งในปัจจุบันสรรพคุณดังกล่าวได้รับการยอมรับจากแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทย ได้ขึ้นทะเบียนยาที่สกัดจากพืชเพื่อใช้รักษาอาการปวดข้อเข่าโดยไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดแบบเคมีสังเคราะห์ควบคู่ ทั้งยังผลข้างเคียงน้อยและความเสี่ยงต่ำ จึงสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยมากกว่า

2. ต้านกลุ่มอาการ ‘อ้วนลงพุง’

อ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ไม่ใช่แค่คำอธิบายรูปร่าง แต่ยังหมายถึงกลุ่มอาการเกิดจากการเผาผลาญผิดปกติ ทำให้มีไขมันสะสมตามร่างกาย โดยเฉพาะที่หน้าท้องและรอบเอวจนเกิดเป็นพุงตามชื่อเรียก ทั้งยังส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่นำไปสู่โรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้อีกมากเลยทีเดียว

จากการศึกษาประโยชน์ของสารสกัดขมิ้นชันหลายชิ้นพบว่าผลลัพธ์จากการได้รับเคอร์คูมินในปริมาณที่เหมาะสมต่อเนื่องกันอาจช่วยลดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการอ้วนลงพุงได้หลายด้าน เช่น ลดระดับของไตรกลีเซอไรด์และไขมันไม่ดีภายในเลือด (LDL) เพิ่มระดับของไขมันดี (HDL) ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยกระตุ้นการตอบสนองของร่างกายต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นการสารที่ช่วยจัดการพลังงานในร่างกายจึงอาจส่งผลดีต่อคนที่มีความเสี่ยงของกลุ่มอาการนี้ได้

แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดถึงปริมาณสารที่ใช้ ความต่อเนื่องในการใช้ และผลลัพธ์ของสารเคอร์คูมินต่อกลุ่มอาการอ้วนลงพุง คุณสมบัติในข้อนี้ของขมิ้นชันนี้ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม ส่วนใครที่ไม่อยากเป็นโรคนี้ แนะนำว่ารับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำก็ช่วยลดความเสี่ยงได้

3. ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง

การใช้ขมิ้นชันบรรเทาอาการจุกเสียดแน่นท้องนั้นพบได้บ่อย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบยาสมุนไพรหรือสารสกัดเคอร์คูมิน เพราะงานวิจัยบางชิ้นก็มีการพูดถึงสรรพคุณนี้อยู่

การศึกษาชิ้นหนึ่งทดสอบประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคเอชไพโลไรในทางเดินอาหารของสารเคอร์คูมินและยาอื่น ๆ ในคนจำนวน 25 คน โดยให้คนเหล่านั้นได้รับเคอร์คูมิน 30 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่าสารเคอร์คูมินไม่ส่งผลต่อเชื้อโรคในทางเดินอาหาร แต่กลับสามารถช่วยบรรเทาอาการจุกเสียดและลดการหลั่งของน้ำย่อยที่ทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองได้แทน

หากวันไหนรู้สึกแน่นท้อง การเพิ่มขมิ้นชันเข้ามาในมื้ออาหารก็เป็นวิธีแก้ไขเบื้องต้นด้วยตัวเองที่ปลอดภัยและอาจได้ผล นอกจากนี้ ขมิ้นชันยังมีหลากหลายประโยชน์ที่เป็นไปได้ในการนำมารักษาสุขภาพ อย่างโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ แต่ควรรอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย 

เรื่องต้องรู้ก่อนใช้ขมิ้นชัน

แม้จะขมิ้นชันและเคอร์คูมินจะเป็นสารจากธรรมชาติและงานวิจัยส่วนใหญ่บอกว่าปลอดภัย แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางครั้งและในบางคน อย่างอาการคลื่นไส้และท้องเสีย ส่วนมากไม่ค่อยรุนแรงและพบได้น้อย แต่หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้อาหารได้ 

สำหรับบางคนที่มีภาวะสุขภาพบางอย่างอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้มากกว่าคนอื่น เช่น

  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมลูก
  • คนที่มีโรคประจำตัว (นิ่วในถุงน้ำดี, โรคไต, ภาวะเลือดออกผิดปกติ, โรคเบาหวาน)
  • คนที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด เพราะอาจมีเลือดออกมากขึ้น
  • คนที่อยู่ระหว่างการใช้ยารักษาโรค (ยาแก้ปวดที่ไม่มีสเตียรอยด์, ยาความดัน, ยาเบาหวาน, ยาลดไขมันในเลือด, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) รวมทั้งอาหารเสริมจากกระเทียม โสม และใบแปะก๊วย

และนอกจากฤทธิ์แก้ปวดข้อแล้ว สรรพคุณอื่นของขมิ้นชันยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่แน่ชัด จึงไม่ควรรับประทานทีละมาก ๆ เพื่อหวังผลในการรักษาโรค

อย่างไรก็ตาม ขมิ้นชันในอาหารสามารถรับประทานได้ตามปกติ สำหรับใครที่ต้องการใช้สารสกัดขมิ้นชัน แนะนำว่าไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงความเหมาะสมและวิธีการใช้ที่ถูกต้องจะช่วยให้การดูแลสุขภาพได้อย่างปลอดภัยที่สุด และดูให้ดีว่าเป็นขมิ้นชันบดผงหรือสารสกัดเคอร์คูมินก่อนใช้เสมอ