Carbon Footprint คืออะไร ทำไมควรให้ความสำคัญ?
Carbon Footprint เป็นค่าทางวิทยาศาสตร์ที่คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยคำนวณออกมาในรูปแบบของ กรัม , กิโลกรัม หรือตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่า โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาการจัดทำ Carbon Footprint ให้องค์กรและผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ เพื่อช่วยหน่วยงานควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
Carbon Footprint แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ
1.Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์
Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ เริ่มคำนวณตั้งแต่วัฏจักรแรกเริ่มของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ กล่าวคือ เป็นปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ โดยคำนวณออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
2.Carbon Footprint ขององค์กร
Carbon Footprint ขององค์กร คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เช่น การกำจัดของเสีย การเผาไหม้ การใช้ไฟฟ้า การขนส่ง เป็นต้น โดยคำนวณออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
มนุษย์กับปัจจัยการเพิ่มปริมาณ Carbon Footprint
การใช้ชีวิตประจำวันไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิด Carbon Footprint ได้ ทั้งการเดินทาง เครื่องมือเครื่องใช้อำนวยความสะดวก หรือแม้แต่อาหารที่รับประทานก็ทำให้เกิด Carbon Footprint ได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง การรับประทานอาหารจากเนื้อวัวจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าการรับประทานอาหารที่มาจากพืช เนื่องจากเนื้อวัวมีวัฏจักรหลายต่อ ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ไปจนถึงการส่งออกแปรรูป
ในกรณีเครื่องอำนวยความสะดวก หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงรณรงค์ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด เพราะไม่เพียงแต่ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มปริมาณ Carbon Footprint อีกด้วย
Carbon Footprint สำคัญต่อโลก
ปริมาณของ Carbon Footprint เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดความผิดปกติทางธรรมชาติที่ส่งผลมาถึงมนุษย์ทุกคน ที่เห็นได้ชัดคือ การแปรปรวนของสภาพอากาศ บางพื้นที่แห้งแล้งสูง ในขณะที่บางพื้นที่เกิดฝนฟ้าถล่ม และในบางพื้นที่เกิดคลื่นความร้อนสูง ทำให้อากาศร้อนจนประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต
ดังนั้น หลายฝ่ายจึงหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจวัดปริมาณ Carbon Footprint รวมถึงประชาชนทุกคนก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ทุกคนสามารถคำนวณปริมาณ Carbon Footprint จากชีวิตประจำวันของตนเองได้ เพื่อปลูกฝังให้ทุกคนตระหนักและช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนและตามมาด้วยปัญหาทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ทุกคน
หญ้ายา (YAYA) ส่วนสำคัญช่วยลดโลกร้อน
หญ้ายา คือ ‘สรรพยา’ หรือ พืชที่มีสรรพคุณทางยาพบได้ในพื้นที่ป่าสงวนของจังหวัดน่าน ผู้คนมักนำสรรพยาเหล่านี้มาใช้ในการรักษาโรคและเป็นภูมิปัญญาที่ชาวน่านสืบทอดกันมากว่า 700 ปี และในปัจจุบันเมื่อนำสรรพยาเหล่านี้มาต่อยอดพัฒนาด้วยเทคโนโลยีทางเภสัชศาสตร์ จึงทำให้ได้พืชที่มีสารออกฤทธิ์ทางยาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม กลายเป็น ‘ยาสมัยใหม่’ และเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘หญ้ายา’
แม้ ‘หญ้ายา’ จะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติในป่าน่าน แต่หญ้ายาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากหญ้ายาเป็นต้นไม้ต้นเล็ก ๆ อาศัยได้ด้วยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ไม่ต้องการแสงแดดที่มากมาย และอาศัยน้ำในปริมาณที่ไม่มาก ดังนั้น การโค่นต้นไม้ใหญ่ทิ้งหรือการตัดไม้เพื่อถางพื้นที่ทำการเกษตรอื่น ๆ ไม่เพียงแต่ทำลายป่า แต่ยังเป็นการทำลายสรรพยาในป่าที่มีคุณค่าให้หายไปด้วย
ดังนั้น การจะรักษา ‘หญ้ายา’ หรือพืชที่มีคุณค่าในการรักษาโรคและเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนน่าน ทุกคนจะต้องช่วยกันปกป้องป่าไม่ให้ถูกทำลาย เพราะไม่เพียงแต่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการนำหญ้ายามาเป็นยารักษาโรคเท่านั้น การักษาต้นไม้ใหญ่ในป่ายังมีส่วนช่วยเรื่อง Carbon Footprint อีกด้วย
หากพื้นที่ป่าไม่ถูกทำลาย ต้นไม้ก็จะกลับมาอุดมสมบูรณ์ ป่าต้นน้ำน่านก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อน เพราะต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม CO2 ต่อปี ช่วยฟอกอากาศให้กับโลก ทำให้อากาศเสียดีขึ้น และยังช่วยผลิตออกซิเจนได้เพียงพอสำหรับ 2 คน ต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิรอบพื้นที่ปลูกได้ 2-4 องศาเซลเซียส ดังนั้น การหันมาเห็นคุณค่าของหญ้ายาโดยการไม่ทำลายป่าน่าน จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาวิกฤตโลกร้อนได้