CIAN (เซียน) โครงการสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมและผู้คนจังหวัดน่าน
หากคุณได้ยินชื่อจังหวัดน่าน คงนึกถึงป่าเขาลำเนาไพรอันอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ป่าต้นน้ำ จังหวัดที่มีสถานที่ตากอากาศแสนบริสุทธิ์ และจังหวัดที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมอันหลากหลาย แม้ภาพจากคนนอกจะเห็นว่าน่านเป็นเช่นนั้น แต่วิถีชีวิตที่เปลี่ยนของโลกยุคปัจจุบันทำให้สิ่งแวดล้อมของจังหวัดน่านนั้นเปลี่ยนไปทีละเล็กน้อย
โปรเจกต์ Circular Innovation for Nan หรือโปรเจกต์ CIAN (เซียน) เป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยชะลอและยับยั้งการถดถอยของสิ่งแวดล้อมภายในจังหวัดน่าน โดยตั้งเป้าหมายไปที่ผู้คนในชุมชนด้วยการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม และการให้ความรู้ที่จะช่วยให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมของจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่ ที่ทำกิน และบ้านเกิดของคนน่านได้อย่างยั่งยืน
CIAN นวัตกรรมสร้างความยั่งยืนเพื่อจังหวัดน่าน
Circular Innovation for Nan มีชื่ออย่างเป็นทางการในภาษาไทยว่า ‘การสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อุตสาหกรรมชีวะภาพและชุมชนที่ยั่งยืน ณ จังหวัดน่าน’ เป็นโปรเจกต์จากทีมนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยาสิริเมธีหรือวิสเทค (VISTEC) ที่เป็นสถาบันชั้นนำที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และความยั่งยืน
ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีหัวหอก คือ ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล
โดยสถาบันและหน่วยงานเหล่าทำงานร่วมกันในรูปแบบสหวิทยาการหรือการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีของแต่ละหน่วยงานมาศึกษา แลกเปลี่ยน และวางแผนหาทางออกร่วมกัน
จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในจังหวัดน่าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในชุมชน จนขยะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและเกิดปัญหาด้านการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมต่อพื้นที่และผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์นี้ได้ จากการสำรวจในช่วงเริ่มต้นมีจุดฝังกลบขยะเพียง 2 จุดจาก 60 จุดภายในจังหวัดน่านที่จัดการขยะได้อย่างถูกต้อง
ทีมวิจัยจากสถาบัน VISTEC จึงได้อาสาเข้าไปให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เก็บข้อมูล ศึกษา วิจัย และหาหนทางที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก คือ การเปลี่ยนเมืองน่านให้กลายเป็นเมือง Zero Waste หรือเมืองปลอดขยะ
แม้ว่ามุมมองทั่วไปทุกคนเห็นสิ่งของที่ใช้แล้วหรือเศษอาหารนั้นเป็นขยะ แต่หากพลิกมุมมองขยะเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ต่อหรือนำไปผ่านกระบวนการเพื่อเพิ่มมูลค่าได้
ขยะอินทรีย์ / Zero Waste / พืชที่มีสรรพคุณทางยา
สถาบันวิทยสิริเมธีหรือ VISTEC ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนมามากมายก่อนที่จะเกิดโปรเจกต์ CIAN ที่จังหวัดน่าน หนึ่งในนั้น คือ โปรเจกต์ C-ROS (Cash Return from ZeroWaste and Segregation of Trash) ที่มีแนวคิดในการนำขยะไปผ่านกระบวนการที่ถูกต้องเพื่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าเพิ่ม
ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดน่านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งแม้ว่าจังหวัดน่านจะเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงและมีอากาศที่บริสุทธิ์ทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ แต่ด้วยวิถีเกษตรที่เปลี่ยนไปพึ่งพิงสารเคมีมากขึ้น อย่างปุ๋ยเคมีจากฟอสซิลและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เพิ่มต้นทุนในการทำเกษตร เพราะเป็นของนำเข้า ทั้งยังเสี่ยงต่อสารตกค้างปนเปื้อนในผลผลิตและยังเป็นพิษต่อดินและน้ำในบริเวณที่ใช้ ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อการเกษตรในระยะยาวได้
ทางสถาบัน VISTEC ได้พัฒนาคอนเซ็ปต์ C-ROS ออกมาเป็นระบบ ‘ถังสุดดี’ (SUZDEE) ที่ช่วยเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร และเศษอาหารให้กลายเป็นชีวภัณฑ์หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าสารบำรุงพืชหรือปุ๋ยน้ำคุณภาพสูงที่สามารถช่วยบำรุงพืชได้อย่างปลอดภัย ทั้งต่อตัวเกษตรกร สภาพดิน สภาพน้ำในบริเวณเพาะปลูก สิ่งแวดล้อมโดยรอบ ผู้บริโภค และผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากสินค้าเกษตร ส่วนก๊าซจากกระบวนการนี้ก็สามารถนำไปใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มได้
โดยพืชที่มีสรรพคุณทางยาเป็นหนึ่งในผลผลิตจากจังหวัดน่านที่โปรเจกต์ CIAN ต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนในพื้นที่ใช้สารบำรุงพืชจากการนำมาเข้ากระบวนการของถังสุดดีมาใช้รดเพื่อบำรุงพืช หากได้พืชที่ปลอดภัยจากสารตกค้างและผ่านการตรวจสอบสารสำคัญว่าอยู่ในปริมาณสูง
พืชเหล่านั้นอาจมีคุณสมบัติเพื่อนำไปสกัดเอาสารสกัดเป็นยา ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าของพืช เพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นความยั่งยืนในเชิงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากการส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โปรเจกต์ CIAN ยังมีจุดประสงค์ในการสร้างเทคโนโลยีทางการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพเกี่ยวกับพืชที่มีสรรพคุณทางยามูลค่าสูง ซึ่งขยะอินทรีย์ที่เหลือจากกระบวนการอุตสาหกรรมชีวภาพนี้ก็จะถูกนำมาหมุนเวียนกลายเป็นก๊าซหุงต้มและสารบำรุงพืชต่อไปเพื่อให้ครบวงจรของคอนเซ็ปต์ความยั่งยืน
โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา โปรเจกต์ CIAN ได้ลดปริมาณขยะอินทรีย์และขยะปนเปื้อนอาหาร ร่วมกับการแยกขยะมูลฝอยเพื่อนำไปรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 520 กิโลกรัมต่อเดือน ทั้งยังมีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดน่านกว่า 422 กิโลกรัมของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเดือน
พื้นที่ดำเนินการส่วนใหญ่ของโปรเจกต์ CIAN จะอยู่ตามโรงเรียนและชุมชน ทีมวิจัยก็ได้ตั้งถังสุดดี ณ จุดต่าง ๆ ในหลายตำบลและหลายอำเภอในจังหวัดน่าน โดยมีเป้าหมายที่จะตั้งถังสุดดีให้ได้ 30 จุดภายในพ.ศ. 2569 ร่วมกับการให้ความรู้ ซึ่งเป็นการสร้างจิตสำนึก ความเข้าใจ และปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ให้กับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่จะเติบโตมาพัฒนาบ้านเกิดแห่งนี้ต่อไป
โปรเจกต์ CIAN หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อุตสาหกรรมชีวภาพและชุมชนที่ยั่งยืน ณ จังหวัดน่านจึงเป็นเหมือนบทนำของการลงมือปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนที่คน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมสามารถไปด้วยกันได้ หากมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องและได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย
ที่มา: ธนาคารกสิกรไทย, สถาบันวิทยสิริเมธี, C-ROS