สำรวจป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง ต้นกำเนิดสายน้ำของภาคเหนือ

ผืนป่าสีเขียวขจีที่ปกคลุมเทือกเขาสูงชันทางตอนเหนือของประเทศไทย ไม่ได้เป็นเพียงทัศนียภาพอันงดงามเพียงเท่านั้น แต่ยังซุกซ่อนความลับอันยิ่งใหญ่ของการดำรงชีวิตไว้ด้วย นั่นคือ ป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง แหล่งกำเนิดต้นน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน พืชพรรณ และสัตว์นานาชนิดในภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน

ป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง นิยามและความสำคัญ

ตามการอ้างอิงจากกองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดกลุ่มน้ำโดยการกำหนดอาณาเขตของพื้นที่ลุ่มน้ำไว้ โดยกำหนดผ่านปัจจัยทางกายภาพทั้ง 6 อย่างด้วยกัน ได้แก่ 

  1. สภาพภูมิประเทศ 
  2. ระดับความลาดชัน 
  3. ความสูงจากระดับน้ำทะเล 
  4. ลักษณะทางธรณีวิทยา 
  5. ลักษณะปฐพีวิทยา 
  6. สภาพป่าไม้ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

เมื่อใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงสามารถแบ่งกลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำออกเป็นทั้งหมด 5 ระดับชั้นด้วยกัน 

  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 : เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันมากกว่า 60% ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่ต้องอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นต้นน้ำลำธาร 
  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 : เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชัน 35 – 50% ของพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาบนพื้นที่สูง สันเขามนและมีความกว้างไม่มากนัก 
  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3 : เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชัน 25 – 35% ของพื้นที่ เป็นที่ราบขั้นบันไดมีเนินสลับหรือบริเวณที่ลาดตีนเขา 
  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4 : เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชัน 6 – 25% ของพื้นที่ เป็นเนินเขาหรือที่ราบขั้นบันได หรืออาจเป็นพื้นที่ที่เป็นช่วงต่อระหว่างที่ราบกับเชิงเขา
  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 5 : เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันต่ำกว่า 6% ของพื้นที่ เป็นที่ราบหรือที่ลุ่ม หรือเนินลาดเอียงสองฝั่งลำน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทุ่งนา

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 หรือป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ชั้นย่อย

  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ : พื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ภายในปี 2525 จำเป็นต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารและเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ
  • พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี : พื้นที่ที่สภาพป่าส่วนใหญ่ได้ถูกทำลาย ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาหรือการใช้ที่ดินรูปแบบอื่นภายในปี 2525 ซึ่งการใช้ที่ดินตรงส่วนนี้จะต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ 

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 หรือป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางต่อการชะล้างพังทลายของดินสูงมาก หากพื้นที่ตรงนี้ถูกบุกรุกทำลาย จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำในลำธารและแม่น้ำที่ไหลลงสู่พื้นที่ราบเบื้องล่างได้ ป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งจึงไม่ได้สำคัญแค่การเป็นแหล่งกำเนิดน้ำเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบทบาทสำคัญในระบบนิเวศโดยรวมด้วย

1.เป็นแหล่งกักเก็บและปล่อยน้ำ

ป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งมีความสามารถในการดูดซับน้ำฝนลงสู่ชั้นดิน จากนั้นจะค่อย ๆ ปล่อยน้ำลงสู่ลำธารหรือแม่น้ำด้านล่างอย่างช้า ๆ ทำให้เกิดการไหลของน้ำที่สม่ำเสมอ สิ่งนี้ช่วยหล่อเลี้ยงระบบนิเวศ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ทั้งการดำรงชีวิตและการทำเกษตรกรรม

2.ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

รากไม้ของพืชในป่าต้นน้ำจะช่วยยึดเกาะหน้าดิน ป้องกันการชะล้างของหน้าดิน ช่วยชะลอการไหลของน้ำและลดความรุนแรงของน้ำในฤดูน้ำหลาก ลดโอกาสเกิดดินถล่มหรือน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ที่อยู่ปลายน้ำได้ 

3.ฟื้นฟูและรักษาคุณภาพน้ำ

พืชพรรณในป่า เศษอินทรีย์วัตถุ และชั้นหินต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำ จะทำหน้าที่เป็นตัวกรองธรรมชาติ ช่วยให้น้ำที่ไหลผ่านสะอาดขึ้นและมีคุณภาพดีก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก

4.พื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง

ป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งมักเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ป่าหายาก มีความหลากหลายทางสูง เพราะสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตและดำรงเผ่าพันธุ์

5.แหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญ

แม่น้ำใหญ่หลายสายของประเทศไทย เช่น แม่น้ำปิง ยม วัง น่าน ล้วนมีต้นกำเนิดอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการไหลเวียนของน้ำในระบบลุ่มน้ำขนาดใหญ่

การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 

ป่าต้นน้ำน่าน เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่านที่มวลน้ำกว่าร้อยละ 40 ไหลมารวมกับแม่น้ำปิง วัง ยม บรรจบกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักสำคัญของประเทศ 

แม้ในอดีตป่าต้นน้ำน่านจะเคยมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 85% ของจังหวัด แต่ป่าน่านก็ต้องเผชิญกับปัญหาการบุกรุกทำลายเพื่อการเกษตร การตัดไม้ และไฟป่า ทำให้พื้นที่ป่าลดลง กลายเป็นภูเขาหัวโล้นและส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพน้ำเป็นอย่างมาก 

ปัจจุบัน มีโครงการหลายโครงการที่ช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง เช่น โครงการปลูกป่าทดแทน โครงการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ผืนป่าในจังหวัดน่านกลับมาเขียวชอุ่มและทำให้ประชาชนและชาวบ้านเล็งเห็นถึงสำคัญของป่าต้นน้ำน่านได้ดีอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง

  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม www.onep.go.th 
  • นิตยสารสารคดี : ความสำคัญของการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำไทย www.sarakadee.com
  • กองยุทธศาสตร์และแผนงาน spd.onep.go.th
  • บทความ : ความหวังของป่าต้นน้ำน่าน  www.isranews.org/article/isranews-article 
  • บทความ : ทำไม ‘ป่าต้นน้ำน่าน’ ถึงสำคัญต่อวิถีชีวิตคนไทย? yaya.co.th/nan-watershed-forest/

Post a comment

m About

YAYA (หญ้ายา) คือ พืชที่มีสรรพคุณทางยาจากจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีภูมิปัญญาในการใช้ 'หญ้ายา' เพื่อรักษาโรคมากว่า 700 ปี