ความเชื่อและภูมิปัญญาการรักษาโรคของชาวน่าน: ศาสตร์การเยียวยาจากผืนป่า
การรักษาโรคด้วยพืชเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาพื้นฐานที่พบได้ในทุกอารยธรรมโบราณทุกแห่งบนโลก ซึ่งมักผสมผสานกับความเชื่อด้านจิตวิญญาณ และวิถีชีวิตเข้าไปในศาสตร์การเยียวยา สะท้อนถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่พึ่งพาธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนาน
น่าน จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าต้นน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของคนหลากหลายชาติพันธุ์มาหลายร้อยปี ผู้คนแต่ละกลุ่มก้อนก็มีภูมิปัญญาในการรักษาโรคที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน แต่ล้วนอาศัยพืชพรรณในผืนป่ามาใช้เพื่อเยียวยาการเจ็บป่วย
ภูมิปัญญาการใช้พืชในศาสตร์การเยียวยาของคนน่าน
การรักษาโรคด้วยพืชของคนน่านในอดีตเกิดจากสังเกต และลองผิดลองถูกจนเกิดเป็นองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งจากการบอกเล่าปากต่อปาก และการจดบันทึกในเอกสารโบราณ
ซึ่งการนำองค์ความรู้โบราณที่มีอายุหลายร้อยปีมาใช้รักษาโรคในยุคปัจจุบันอาจทำให้เกิดข้อกังขาถึงประสิทธิภาพ รวมถึงความปลอดภัยในการใช้ เพราะในโลกวิทยาศาสตร์ต้องการการพิสูจน์ทราบโดยมีข้อมูลงานวิจัยรองรับ
อีกทั้งรูปแบบการใช้พืชรักษาโรคแบบดั้งเดิมอาจมีเรื่องของพิธีกรรมของแต่ละพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งในการรักษา อย่างการขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขา หรือการร่ายมนตร์คาถา เพราะในอดีตไม่มีองค์ความรู้สมัยใหม่ มนุษย์ไม่สามารถหาข้อพิสูจน์หรือสาเหตุของโรคได้อย่างแน่ชัด ประกอบกับความเชื่อในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติมาอย่างช้านาน
คนสมัยก่อนจึงเชื่อว่าการเจ็บป่วยอาจมีสาเหตุมาจากสมดุลของธาตุภายในร่างกายเปลี่ยนไป โดยเป็นผลมาจากธรรมชาติของชีวิต ซึ่งตามหลักแล้วก็คือวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ขาดความเข้าใจถ่องแท้ อีกส่วนเป็นผลมาจากจากสิ่งเหนือธรรมชาติดลบันดาล รูปแบบการรักษาจึงมีการผสานทั้งสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน
ปัจจุบันจึงมีการนำเอาข้อมูลที่รวบรวมจากบันทึกโบราณในศาสตร์ของการเยียวยาด้วยพืชที่ถูกบันทึกในภาษาธรรมล้านนามาแปลและถอดข้อความเป็นภาษาปัจจุบัน และนำข้อมูลหรือสูตรยาโบราณที่ได้มาพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้สิ่งที่คนในอดีตขาดความเข้าใจ หาสาเหตุ หรือหาเหตุผลมารองรับไม่ได้เกิดความกระจ่าง
โดยพืชที่ปรากฏอยู่ในตำรานั้นมีหลายชนิด แต่มักจะถูกบันทึกไว้ด้วยชื่อภาษาโบราณ ภาษาท้องถิ่น หรือถูกบันทึกไว้ในรูปแบบของคำปริศนา ซึ่งต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ทั้งด้านภาษาธรรมล้านนา และการใช้พืชเพื่อรักษาโรคในการแปลความ เมื่อเทียบชนิดของพืชแล้วจะมีการนำพืชเหล่านั้นมาพิสูจน์คุณสมบัติทางยาว่าตรงกับที่เอกสารโบราณบันทึก หรือคำบอกเล่าที่สืบต่อกันมาหรือไม่
พืชที่มีที่มาจากเอกสารโบราณจังหวัดน่านที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์จะถูกเรียกว่า ‘หญ้ายา’ ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาองค์ความรู้โบราณของจังหวัดน่านด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าให้พืชท้องถิ่นของจังหวัดน่าน ที่มีภูมิประเทศที่มีความเฉพาะ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ และเป็นป่าทึบ พืชส่วนใหญ่ที่นำมาใช้จึงเป็นพืชที่เติบโตใต้ต้นไม้ใหญ่
อิทธิพลทางจิตใจจากศาสตร์รักษาแบบโบราณ
หากมองผ่านเลนส์ของโลกยุคปัจจุบัน การรักษาการเจ็บป่วยด้วยพืชประกอบกับพิธีกรรมอาจดูย้อนแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์ แต่ในเชิงจิตวิทยามนุษย์ ข้อมูลบางส่วนชี้ว่าพิธีกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความแข็งแรงทางจิตใจของมนุษย์เพื่อต่อสู้กับอาการเจ็บป่วย คล้ายกับกุศโลบายในการเอาชนะโรคภัย
ซึ่งเคยมีการวิเคราะห์ว่าความเชื่อส่วนบุคคล องค์ประกอบ และขั้นตอนในพิธีกรรมมีส่วนช่วยในการปลดล็อกและชำระล้างความรู้สึกติดค้างบางอย่างในใจของผู้ที่เจ็บป่วย คล้ายกับการบำบัดจิตและสะกดจิตผ่านพิธีกรรม สู่การเปลี่ยนผ่านทางจิตใจ ซึ่งส่งผลดีต่อจิตใจ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติมถึงกลไกต่อจิตใจที่แน่ชัด
ภูมิปัญญาการรักษาโรคของชาวน่าน ทั้งในด้านการของใช้พืช และด้านความเชื่อสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนและผืนป่า และวิถีชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งหมดนี้สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับวิถีชีวิตของชาวน่าน
บางส่วนของพืชที่ถูกบันทึกไว้ได้รับการชำระ และพิสูจน์สรรพคุณเพื่อนำไปพัฒนาด้วยความรู้สมัยใหม่ อย่างการหาสารสำคัญ การสกัดตัวยาจากพืช ตลอดจนการทดลองในกลุ่มตัวอย่างด้วยหลักการทางเภสัชศาสตร์ จนเกิดเป็นการรักษาที่มีงานวิจัยรองรับ และเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นเพียงความเชื่อให้กลายเป็นความจริงด้วยวิทยาศาสตร์
ที่มาข้อมูล
- Psychology Today, Mental Illness Cured by Ritual
- Psychology Today, Prayer and Mental Health
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, การดำรงอยู่ของหมอพื้นบ้าน : กรณีศึกษา หมอเมืองในจังหวัดน่าน
- ไทยโพสต์, ‘ยาป่าน่าน’ ภูมิปัญญาโบราณหลายร้อยปี