“พืช” ที่ออกฤทธิ์แก้ปวด

ไม่ว่าจะกี่ยุค กี่สมัย อาการเจ็บป่วยถือเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ แม้ในสมัยก่อนจะไม่ได้มีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่กว้างไกลมากนัก แต่มนุษย์ก็จำเป็นต้องหาสิ่งมาช่วยให้ตนเองอยู่รอดและบรรเทาอาการเจ็บป่วย นั่นก็คือการใช้ ‘พืช’ ในการรักษาโรคนั่นเอง แม้จะเกิดจากการลองผิดลองถูก และการคาดเดาสรรพคุณของพืชชนิดนั้น แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ‘พืช’ ที่เคยถูกนำมาใช้ในอดีตก็เริ่มมีหลักฐานยืนยันเรื่องคุณสมบัติในการออกฤทธิ์มากขึ้น เราจะพาทุกคนมารู้จัก 2 พืชยา ที่มีการศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาเรื่องบรรเทาอาการปวดข้อเข่าและถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรของไทย

1.ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L. เป็นพืชตระกูลเดียวกับขิงคือตระกูลซิงจิเบอราซี่ (Zingiberaceae) ส่วนของขมิ้นชันที่นำมาใช้ประโยชน์ทางยาคือส่วนของเหง้าหรือลำต้นใต้ดิน ในสารสกัดขมิ้นชันจะมีสารออกฤทธิ์หลัก คือ สารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids) ซึ่งมีสารเคอร์คูมิน (Curcumin) เป็นองค์ประกอบหลัก

ปัจจุบันยาสารสกัดขมิ้นชันเป็นยาจากพืชที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรของไทยในข้อบ่งใช้บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม มีการศึกษาผลของสารสกัดขมิ้นชันในการบรรเทาอาการปวดข้อเข่าในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม พบว่าการรับประทานสารสกัดขมิ้นชันมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดข้อเข่าได้เทียบเท่ากับยา Ibuprofen ที่เป็นยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) และพบว่าการรับประทานสารสกัดขมิ้นชันมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ายา Ibuprofen อย่างไรก็ตามยาสารสกัดขมิ้นชันก็ยังมีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ในคนไข้บางกลุ่ม จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา

2.เถาวัลย์เปรียง

เถาวัลย์เปรียง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Derris scandens (Roxb.) Benth. ส่วนของเถาวัลย์เปรียงที่นำมาใช้ประโยชน์ทางยาคือ เถา (ลำต้น) ในสารสกัดเถาวัลย์เปรียงมีสารออกฤทธิ์หลักเป็นสารในกลุ่มไอโซฟลาโวนและไอโซฟลาโวนไกลโคไซด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ปัจจุบันยาสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงเป็นยาจากพืชที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรของไทยในข้อบ่งใช้บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง และอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม 

มีการศึกษาผลของสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงในการบรรเทาอาการปวดข้อเข่าในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมพบว่าการรับประทานสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดข้อเข่าได้เทียบเท่ากับยา Naproxen ที่เป็นยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs) แต่สารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงก็ยังส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารเหมือนกับการใช้ยาในกลุ่มยาแก้ปวดลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs) เนื่องจากเถาวัลย์เปรียงออกฤทธิ์ต้านการอักเสบผ่านการยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-1 (COX-1) มีผลในการลด การสร้างสาร prostaglandins ที่ทำหน้าสร้างเยื่อเมือกป้องกันกระเพาะอาหาร จึงส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้ ดังนั้น ควรประทานยาสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงหลังอาหารทันที อย่างไรก็ตามยาสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงก็ยังมีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ในคนไข้บางกลุ่มจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา 

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพืชยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อมที่ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรถึง 2 ชนิดด้วยกัน แต่การจะทำให้ยาจากพืชได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคในระดับมาตรฐานสากลยังคงต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน เพื่อให้พืชเหล่านั้นมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาโรคได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยา

Post a comment