แนวทางการปลูก ‘หญ้ายา’ ยาจากพืชสมัยใหม่

หากพูดถึง ‘หญ้ายา’ สำหรับใครที่เพิ่งเคยได้ยินคำนี้ครั้งแรก อาจเกิดข้อสงสัยว่า ‘หญ้ายา’ คืออะไร ? แม้คำว่าหญ้ายาจะเป็นคำใหม่ในประเทศไทย แต่ความหมายนั้นตรงตัว นั่นคือ ‘หญ้า’ ที่มีสรรพคุณเป็นยา ซึ่งหญ้าในที่นี้หมายรวมถึงพืชต่าง ๆ ด้วย แต่พืชหรือหญ้านั้น ๆ จะต้องมีที่มาจากป่าน่านซึ่งเป็นป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งที่ได้ผ่านการพิสูจน์สารสำคัญด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้

สรรพยา=พืชที่มีสรรพคุณทางยา

ในอดีตชาวจังหวัดน่านใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางป่าเขา และแน่นอนว่าการหุงหาอาหารรวมถึงยารักษาโรคก็ต้องหาจากป่าเขาเช่นกัน ด้วยสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ไม่เอื้อต่อการต้องเข้าเมือง และยากต่อการแพทย์เข้าถึง มนุษย์จำเป็นต้องเอาตัวรอดจากทรัพยากรที่มีอยู่ จนท้ายที่สุดค้นพบพืชที่เป็นยา หรือ ‘สรรพยา’ ในป่าเขา นำมาต่อยอดจนก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาการรักษาโรคกว่า 700 ปี จนถึงวันนี้แม้ความเจริญและสาธารณูปโภคเข้าถึงมากขึ้น แต่ภูมิปัญญาการรักษาโรคเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ และถึงเวลาแก่การอนุรักษ์ไว้โดยที่สามารถเพิ่มคุณค่า และมูลค่าของพืชยาเหล่านั้นได้

การทดลองปลูกพืชที่มีสรรพคุณทางยา

การจะเพิ่มคุณค่า และทำให้พืชที่มีสรรพคุณทางยาพัฒนาไปจากเดิมได้ ก็ต้องเริ่มด้วยการนำทฤษฎีใหม่เข้ามาจับทั้งเรื่องของการปลูก ตลอดจนการพัฒนาแปรรูปเป็นยาสมัยใหม่ โดยนำหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นหัวใจหลักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และต้องเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

ปัจจุบันพืชที่มีสรรพคุณทางยา ถูกนำมาทดลองปลูกในหลากหลายรูปแบบ ทั้งปลูกในโรงเรือน ปลูกในกระถาง และปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น สาเหตุที่ต้องมีการทดลองปลูกในหลากหลายรูปแบบนั่นเป็นเพราะว่าที่ผ่านมาเราทราบว่าพืชชนิดหนึ่งสามารถรักษาโรคได้ และเป็นพืชที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่พืชนั้น ๆ อาจจะมีสารออกฤทธิ์ที่ดี หรือมีฤทธิ์ทางยาที่มากขึ้นหากปลูกในลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิม ขณะเดียวกันก็ยังคงยึดแนวทางการปลูกที่เลียนแบบธรรมชาติมากที่สุด นั่นคือ การปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่

 ‘การปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่’ ไม่เพียงแต่เป็นแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชยานั้น ๆ แต่เป้าประสงค์หลัก คือ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถมีอาชีพทำมาหากินโดยไม่กระทบพื้นที่ป่า และหากแนวทางการปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่สำเร็จ นั่นหมายความว่าคนน่านก็จะมีความหวังในการสร้างอาชีพโดยปราศจากการทำลายป่า แต่เป็นการหากินร่วมกับการรักษาไว้ซึ่งป่าไม้นั่นเอง

‘หญ้ายา’ ยาสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้

เมื่อชาวบ้านมีสมบัติล้ำค่าอย่างพืชที่มีสรรพคุณทางยา การนำมาพัฒนาต่อยอดก็ไม่ไกลเกินหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาช่วยกันพัฒนายาจากพืชด้วยหลักเภสัชศาสตร์ และการพิสูจน์ทราบที่น่าเชื่อถือได้ จากก่อนหน้าที่ชาวบ้านใช้ยาเหล่านี้ด้วยกระบวนการแบบธรรมชาติ ก็จะได้ใช้ยาที่มีประสิทธิภาพและมีวิทยาศาสตร์รองรับ ที่สำคัญทำให้ผู้คนเชื่อถือ ไว้วางใจ กลายเป็นยาสมัยใหม่ที่ช่วยรักษาโรค หรือที่เรียกว่า ‘หญ้ายา’ ควบคู่ไปกับการจุดประกายแนวทางการหาเลี้ยงชีพแบบใหม่กับคนน่านอีกด้วย

และเมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ หลายคนมักจะเชื่อว่าสิ่งประดิษฐ์ใดก็ตามที่ได้ผ่านการค้นคว้า พัฒนา ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์นั้นย่อมเชื่อถือได้ ‘ยาจากพืช’ ก็เช่นกัน ดังนั้น เมื่อทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวน่าน ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดี เกิดเป็น ‘หญ้ายา’ ยาจากพืชที่ผู้ป่วยสามารถไว้วางใจได้ ที่สำคัญเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาพืชพรรณของไทยให้ก้าวสู่สายตานานาชาติอีกด้วย