ยาแผนปัจจุบัน VS ยาจากพืช แบบไหนดีกว่ากัน

ยาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต คนไทยเองก็มีความคุ้นเคยกับทั้งยาจากพืชและยาแผนปัจจุบัน หลายคนอาจได้ยินกันมาบ้างถึงการเปรียบเทียบระหว่างยาสองชนิดนี้ว่าแบบไหนดีกว่าและปลอดภัยกว่ากัน เพราะการมาของยาแผนปัจจุบันที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทำให้มาตรฐานในการเลือกใช้ยาของผู้คนเปลี่ยนไป แต่ในขณะเดียวกันคนจำนวนไม่น้อยก็ยังเชื่อในยาจากพืชที่มาจากธรรมชาติอยู่ โดยเฉพาะยาจากพืชที่มาจากสมุนไพร

บทความนี้จะพาผู้อ่านมารู้จักกับยาแผนปัจจุบันและยาจากพืช และมุมมองจากคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ภญ.ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์ต่อความสัมพันธ์ของยาจากพืชและยาแผนปัจจุบัน

ยาแผนปัจจุบัน ยาดีแต่ก็มีข้อจำกัด

ยาแผนปัจจุบันหรือยาสมัยใหม่ (Modern medicine) เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1,800 ซึ่งการเกิดขึ้นของยาแผนปัจจุบันช่วยชีวิตผู้คนทั่วโลกได้มากมายมหาศาล จากโรคที่รักษาไม่หายก็สามารถหายได้ ยาจากพืชที่หาได้ยากก็สังเคราะห์ขึ้นมาได้ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ทุกวันนี้ยามที่คนเราเจ็บป่วย ยาแผนปัจจุบันมักเป็นตัวเลือกแรกในการรักษาเสมอ ต่อให้เป็นผู้เฒ่าผู้แก่เอง ปวดหัวขึ้นมาก็ไม่ได้ไปซื้อสมุนไพรมาต้มดื่ม ในเมื่อยาพาราเซตามอลเพียงหนึ่งเม็ดก็สามารถช่วยบรรเทาได้ อีกทั้งยังปลอดภัยและหาซื้อได้ง่าย 

แม้จะเป็นการสังเคราะห์จากสารเคมี ซึ่งอาจฟังดูไม่ปลอดภัย แต่ยาเหล่านี้ถูกทดลองแล้วทดลองอีกผ่านกระบวนการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์นานหลายปีจนถึงหลายสิบปี ตั้งแต่ในเซลล์จนถึงการทดสอบในคน แม้จะปล่อยสู่ตลาดแล้ว ยาเหล่านี้ยังคงถูกศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูผลกระทบจากการใช้ในระยะยาว จนออกมาเป็นยาที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้

แต่ด้วยการศึกษาต่อเนื่องหลังปล่อยสู่ตลาด ในประวัติศาสตร์ของยาแผนปัจจุบัน จึงมียาจำนวนไม่น้อยที่ถูกจัดประเภทใหม่ ถูกตั้งข้อจำกัดในการใช้ หรือแม้แต่ถูกยกเลิกใช้ เพราะผลการศึกษาพบว่าเป็นอันตรายในระยะยาวหรือมาพบในภายหลังว่ายานั้นส่งผลเสียต่อระบบอื่นได้ ซึ่งการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเท่านั้นที่บอกได้

รู้จักยาจากพืชให้มากขึ้น

การใช้ยาจากพืชรูปแบบบดั้งเดิมหรือสมุนไพรเกิดขึ้นตั้งแต่อารยธรรมของมนุษย์เริ่มต้นขึ้น จากนั้นก็สืบทอดต่อมาทั้งในรูปแบบของการบอกเล่า การฝึกฝน และพัฒนามาเป็นการบันทึกเป็นตำรับตำรา โดยหนึ่งในหลักฐานเกี่ยวกับการใช้พืชเพื่อรักษาโรคที่เก่าแก่ที่สุดคือภาพฝาผนังภายในถ้ำลัสโก (Lascaux cave) ประเทศฝรั่งเศส ที่มีอายุราว 13,000–15,000 ปีก่อนคริสตกาล

ภูมิปัญญาในการใช้พืชเพื่อรักษาโรคเกิดขึ้นหลายแห่งบนโลก หนึ่งในศาสตร์การแพทย์โบราณที่รู้จักกันทั่วโลกคือตำราอายุรเวชของอินเดีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรากฐานของแพทย์แผนไทย ที่ผ่านการผสมผสานกับภูมิปัญญาการรักษาโรคด้วยพืชและความเชื่อของคนในอดีตจนเกิดเป็นตำรับยาแผนไทย

การใช้ยาจากพืชแบบดั้งเดิมในการรักษาโรคเป็นการรักษาแบบองค์รวม เพราะในพืชหนึ่งต้นมีสารเคมีธรรมชาติสารพัดชนิด บ้างเป็นยา บ้างเป็นพิษ หรือบางสารอาจให้ผลทั้งสองแบบเมื่อกินเข้าไป ซึ่งจะเห็นได้ว่ายาจากพืชที่เราใช้กันอยู่เป็นการนำพืชทั้งต้นมาอบแห้งและทำเป็นยา ทำให้เราได้รับสารทั้งหมดที่พืชชนิดนั้นมี การโฟกัสที่ผลการรักษาเฉพาะอาการที่เกิดขึ้น โดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงต่อระบบอื่นจึงทำได้ยาก

อีกหนึ่งจุดอ่อนของการนำพืชมาเป็นยาคือการขาดควบคุมการผลิต ผู้ใช้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่ายาจากพืชอบแห้งแต่ละเม็ดที่กินเข้าไปมีสารอะไรบ้าง มีสารที่เป็นยาในปริมาณเท่าไหร่ หรือสารปนเปื้อนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยหรือเปล่า

ในแต่ละล็อตการผลิต ยาจากพืชเหล่านี้อาจมีตัวยาในปริมาณไม่เท่ากัน เพราะข้อมูลทางการศึกษาพบว่าพืชชนิดเดียวกัน แต่ปลูกคนละสถานที่ให้ปริมาณสารสำคัญที่ต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสำคัญต่อผลการรักษาและสุขภาพของผู้ป่วยอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาจากพืชตามคำแนะนำบนฉลากเป็นวิธีรักษาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีภาวะสุขภาพร้ายแรง ไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือไม่ได้อยู่ระหว่างการใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ อยู่ 

แม้จุดอ่อนของยาจากพืชอาจดูเป็นรองยาแผนปัจจุบันอยู่หลายข้อ แต่หากเราเอาวิทยาศาสตร์และกระบวนการผลิตยาแบบสมัยใหม่ที่ได้มาตรฐานมาตรวจวิเคราะห์สารในพืชหรือพืชไปสกัดเอาเฉพาะสารสำคัญที่เป็นยาออกมาผลิตเป็นยาแผนปัจจุบันที่ใช้พืชในการผลิตหรือยาที่สกัดจากพืชก็คงจะช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ยาแผนปัจจุบันกับยาจากพืชสัมพันธ์กันกว่าที่คิด

แม้ยาจากพืชแบบดั้งเดิมกับยาแผนปัจจุบันจะมีข้อเปรียบเทียบกันจนบางทีเหมือนทั้งสองสิ่งนี้อยู่ตรงข้ามกัน แต่หากมองในฐานะของผู้ใช้ยา หากเราสามารถใช้ทั้งสองสิ่งนี้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ คุณภาพชีวิตของผู้คนคงจะดีขึ้นไม่น้อย และในความเป็นจริงยาจากพืชกับยาแผนปัจจุบันมีความสัมพันธ์กันกว่าที่คิด

ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นความสัมพันธ์ของยาแผนปัจจุบันกับยาจากพืชแบบดั้งเดิมเอาไว้ว่า

“องค์ความรู้ในอดีตเป็นพื้นฐานขององค์ความรู้ในปัจจุบัน บรรพบุรุษของเรามีการจดบันทึกในสิ่งที่เขาได้เฝ้าสังเกตมาเป็นเวลานานและคิดว่าสิ่งนั้นได้ผล และนำเอาองค์ความเหล่านี้มาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วย”

ซึ่งเดิมทียาแผนปัจจุบันก็เป็นการต่อยอดมาจากภูมิปัญญาการรักษาโรคของคนในอดีต โดยอาจารย์พรอนงค์ได้ให้ความเห็นว่า การนำเอาองค์ความรู้ในอดีตใช้เพียงอย่างเดียวอาจทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในการใช้ยา โดยเฉพาะในกลุ่มของบุคลากรทางแพทย์ที่ยึดถือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นตัวตั้ง โดยอาจารย์พรอนงค์ก็ได้ให้แนวทางในการแก้ไขข้อจำกัดนี้ว่า

“องค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ สามารถนำมาจับกับองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อทำให้มีคุณค่ามากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนายาจากพืชแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็นนวัตกรรมสุขภาพ”

ในเมื่อเงื่อนไขของการยอมรับในระดับสากลคือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การนำเอาพืชจากตำรายาโบราณมาวิเคราะห์ด้วยวิทยาการสมัยใหม่แบบเดียวกับยาแผนปัจจุบันก็จะสามารถช่วยกลบจุดด้อยของยาจากพืชแบบเดิมและในขณะเดียวกันก็เป็นการยกระดับยาจากพืชให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดใหม่มาด้วย นอกจากนี้อาจารย์ได้กล่าวเสริมต่อไปอีกว่า

“ของเหล่านี้ (สารสำคัญจากพืช) สามารถทดแทนสารเคมีได้ ได้ฤทธิ์เหมือนยาแผนปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจในการจ่ายนวัตกรรมสุขภาพ (ยาแผนปัจจุบันจากสารสำคัญของพืช) เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

จากความคิดเห็นและตัวอย่างที่อาจารย์พรอนงค์ได้ให้สัมภาษณ์ ยาแผนโบราณเป็นรากฐานของยาแผนปัจจุบัน และจะเห็นได้ว่าพืชและตำรายาแผนไทยเป็นสิ่งล้ำค่าที่หากนำมาต่อยอดด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่จะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับนวัตกรรมสุขภาพของไทยได้

คงจะเป็นเรื่องดี หากประเทศไทยสามารถผลิตยาสมัยใหม่ที่สกัดสารสำคัญจากพืช โดยไม่ต้องพึ่งพาการสังเคราะห์สารเคมี ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนสามารถใช้ยาที่สกัดจากพืชได้อย่างมั่นใจ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนภูมิปัญญาของไทยไปในตัว หากมีการวางแผนอย่างเป็นระบบและมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน ประเทศไทยก็จะมีนวัตกรรมสุขภาพที่ได้การยอมรับในวงการแพทย์และกลายเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงในระดับสากล


ที่มา1, ที่มา2, ที่มา3, ที่มา4, ที่มา5