ชีวิตบนผืนป่าของชาวลัวะ บ้านป่ากำ กลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดน่าน
ป่ากับวิถีชีวิตมนุษย์มีความสัมพันธ์อย่างไม่สามารถแยกขาดกันได้ตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้น หากมองภาพปัจจุบันเราอาจเห็นป่าเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ดูตื่นตาตื่นใจหรือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต
แต่ในความเป็นจริง ป่าสำคัญกับมนุษย์มากกว่านั้นหลายเท่า แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตภายในเมืองและคนที่เคยอาศัยในพื้นที่ใกล้ชิดป่าก็ย้ายรกรากมาพื้นที่ราบมากขึ้น แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังมีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับผืนป่ามาหลายร้อยปี ซึ่งบทความนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับวิถีชาวลัวะ ณ บ้านป่ากำ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
ชาวลัวะ บ้านป่ากำคือใคร?
ชาวลัวะเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน บ้างรู้จักกันในชื่อ “ชาวพ่าย” แต่ภาษาทางการจะเรียกว่า “ถิ่น” หรือ “ข่าถิ่น” ที่หมายถึงคนถิ่น เพราะตามหลักฐานที่อ้างอิงได้ในปัจจุบันเชื่อกันว่าชาวลัวะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่จังหวัดน่านมาตั้งแต่โบราณ
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะพบได้ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ มีวิถีชีวิตและความเชื่อคล้ายกัน แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือแม้แต่ชาวลัวะในน่านเองก็มีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ซึ่งชาวลัวะในหลายพื้นที่ก็ขยับขยายเข้ามาอยู่ใกล้เมืองขึ้น แต่ชาวลัวะ บ้านป่ากำ อำเภอบ่อเกลือยังคงอาศัยอยู่ท่ามกลางไอหมอกอ้อมกอดของขุนเขาแห่งนี้อยู่
ชีวิตกับผืนป่าของชาวลัวะ บ้านป่ากำ
บ้านป่ากำตั้งอยู่บนเทือกเขาอันสลับซับซ้อนภายในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา คนบนนี้จึงอาศัยอยู่ใกล้กับธรรมชาติอย่างมาก แม้ว่าจะมีไฟฟ้าเข้าถึง มีแผงโซลาร์เซลล์ มีทางสัญจรลงเขา และเด็ก ๆ สามารถขี่รถจักรยานยนต์ลงเขาเพื่อไปโรงเรียนได้ แต่ผู้คนก็ยังคงใช้ชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติอย่างที่เคยเป็นมาแต่ในอดีต
นายดวง ใจปิง ชาวลัวะผู้อาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิดได้เล่าว่า ชาวลัวะบ้านป่ากำอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาหลายชั่วอายุคนหรืออาจราว ๆ 200 ปี และแม้ปัจจุบันคนบนนี้สามารถลงเขาเข้าเมืองได้ไม่อยากลำบากเหมือนแต่ก่อนและบางคนก็มีสมาร์ตโฟน แต่ชาวบ้านป่ากำก็ยังคงดำเนินชีวิตตามรอยเท้าของบรรพบุรุษอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ที่พักอาศัยดั้งเดิมของชาวลัวะเป็นบ้านที่ทำจากไม้ ยกพื้นสูงเป็นใต้ถุน หลังคามุงด้วยหญ้าคาทอดยาวลงมาจนเกือบถึงพื้น นายดวง ใจปิงก็ได้อธิบายถึงไม้และหญ้าคาที่ใช้สร้างบ้านไว้ว่าสามารถช่วยป้องกันสิ่งไม่ดีได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไม้หรือหญ้าก็มาจากป่า ป่าจึงเป็นเหมือนบ้านของพวกเขา เป็นสถานที่ช่วยปกป้องร่างกายจากลมฝน ความเหน็บหนาว และยังเป็นสถานที่ที่ปกป้องจิตวิญญาณของพวกเขาจากสิ่งชั่วร้ายอีกด้วย
ชาวลัวะที่นี่ปลูกข้าว ปลูกผัก ทำไร่ และเก็บของป่าเพื่อดำรงชีวิตเป็นหลัก ไม่ได้ปลูกเพื่อทำการค้า เพราะถนนหนทางในการขนส่งก็ยากลำบากและพื้นที่เป็นภูเขา อาหารการกินส่วนมากก็เป็นข้าวและพืชผัก โดยมีพิธีรูดข้าวหรือการเก็บเมล็ดข้าวจากรวงโดยใช้มือเปล่าเป็นประเพณี และจะกินเนื้อสัตว์เฉพาะในวันสำคัญเท่านั้น หรือบางทีล่าสัตว์เล็ก ๆ อย่างนกอย่างกระรอกมาได้ก็จะนำมากินกันทีหนึ่ง
จากการได้พูดคุยกับชาวบ้านก็ทราบว่าคนที่นี่แข็งแรงและสุขภาพดี อย่างคุณตาท่านหนึ่งในหมู่บ้านก็มีอายุ 90 กว่าปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พบได้น้อยมากในคนพื้นที่ราบ
พอได้ฟังแบบนี้ก็หวนนึกถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีงานวิจัยที่พบว่าการกินอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก อย่างในคนที่เป็นมังสวิรัติมักมีความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง อย่างไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวานต่ำกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์เป็นประจำ ทั้งยังอาจช่วยให้อายุยืนขึ้น ยิ่งในคนสูงวัยด้วยแล้ว วิธีการกินรูปแบบนี้ก็ดีต่อสุขภาพไม่น้อย
พอถามไถ่กันไปถึงเรื่องสุขภาพก็อดถามถึงโรคภัยไข้เจ็บของผู้คนบนนี้ไม่ได้ เพราะจากการเดินทางที่ยากลำบากและไกลจากโรงพยาบาล หากเจ็บป่วยและต้องการไปหาหมอก็คงใช้เวลานาน โดยนายดวง ใจปิงก็เล่าให้ฟังว่าที่บ้านป่ากำมีสุขศาลาพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือสมเด็จพระเทพที่ผู้คนเรียกกัน
โดยสุขศาลาให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแบบผสมผสาน ทั้งด้านการปฐมพยาบาล การพยาบาล ตลอดจนการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและการเฝ้าระวังโรค หากป่วยหนักหน่อยก็ต้องลงไปหาหมอ แต่เราก็ได้ย้อนถามไปตั้งแต่ก่อนว่าชาวลัวะในอดีตดูแลตัวเองอย่างไรในยามเจ็บป่วย
นายดวงได้ตอบมาว่า เวลาเจ็บป่วยก็เข้าป่าหาพืชมาต้มดื่ม นำมาทำเป็นอาหาร บ้างก็นำมาพอกตามร่างกาย ทั้งปวดท้อง ปวดขา และอาการอื่น ๆ เราก็ได้ถามต่อว่าแล้วรู้ได้อย่างไรว่าพืชเหล่านั้นมีประโยชน์ ซึ่งเขาก็ได้กล่าวต่อไปว่าคนที่นี่เติบโตมาก็อยู่กับป่าแล้ว เข้าป่าตั้งแต่จำความได้พ่อแม่ก็สอนว่าต้นไหนเป็นอะไร ปู่ย่าตายายก็สอนพ่อแม่มาอีกที ตัวผมเองก็สอนลูกด้วยเหมือนกัน
ซึ่งอาจพูดได้ว่าการดูแลตัวเองด้วยสิ่งที่หาได้ตามธรรมชาติของชาวลัวะบ้านป่ากำนั้นไม่ธรรมดา ตั้งแต่การกินพืชผักที่เติบโตในป่าโดยปราศจากสารเคมี ตลอดจนการใช้ความรู้เรื่องสรรพยาภายในป่าเพื่อการรักษาโรคที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น กอปรกับอากาศที่บริสุทธิ์อาจส่งเสริมให้คนบนนี้แข็งแรงและห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรง อาจชวนให้ผู้คนฉงนว่าแม้ไม่มีวิทยาการหรือเทคโนโลยี คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลขนาดนี้ยังดูแลสุขภาพได้เป็นอย่างดีมาหลายชั่วอายุคน
ชาวลัวะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีชุดประจำเผ่า ปัจจุบันใส่เสื้อผ้าคล้ายคนเมือง แต่เดิมทีจะแต่งตัวคล้ายกับชาวไทลื้อและใส่เฉพาะวันสำคัญ ซึ่งเสื้อผ้าก็เกิดจากการแลกเปลี่ยนงานหัตถกรรมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ โดยคนลัวะจะมีการสานตะกร้าหรือ “แป้ม” ในภาษาลัวะ จากไม้เพื่อใช้งานและเอาไปแลกงานฝีมือกับกลุ่มอื่น ซึ่งเสื้อผ้าก็เป็นหนึ่งในนั้น
แม้คนเมืองอาจมองว่าป่าเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งผลิตทรัพยากรเพื่อให้ชีวิตสะดวกสบาย แต่สำหรับชาวลัวะ บ้านป่ากำแล้ว ป่าคือบ้านของพวกเขาอย่างแท้จริง เพราะจากที่เล่ามาปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต ทั้งที่พักอาศัย อาหาร ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่มของคนบนนี้ล้วนแล้วมาจากสิ่งที่อยู่ในป่า
และถึงแม้ว่าคนเมืองจะมองป่าเช่นนั้น เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกล้อมรอบตัว แต่ป่าเป็นมากกว่านั้นเสมอและตลอดมา ป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำ อย่างป่าต้นน้ำน่านที่ผลิตมวลน้ำปริมาณมากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาช่วยให้คนที่อยู่กลางน้ำปลายน้ำได้กินได้ใช้
ป่ายังเป็นปอดของโลกช่วยฟอกคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ชีวิตอันสะดวกสบายในปัจจุบัน ช่วยชะลอภัยพิบัติอย่างภาวะสภาพอากาศสุดขั้ว (Climate Extremes) และภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อคนทั้งโลก ป่าและทรัพยากรธรรมชาติจึงสำคัญต่อมวลมนุษยชาติกว่าที่ผู้คนตระหนักรู้กัน
หน้าที่ในการดูแลป่าจึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดป่า อย่างชาวลัวะที่บ้านป่ากำหรือชาติพันธุ์กลุ่มอื่น แต่เป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่ใช้ทรัพยากรจากป่าจากแหล่งน้ำและธรรมชาติของโลกนี้ และนี่เรื่องราวของชีวิตกับผืนป่าบนขุนเขา กับชาวลัวะ บ้านป่ากำ จังหวัดน่าน