คนรอด โลกป่วย อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกว่าที่คิด

ยาแผนปัจจุบันมีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้ โดยยาแผนปัจจุบันเป็นผลผลิตจากความสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่ถูกนำไปศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จนค้นพบสารเคมีที่มีฤทธิ์รักษาโรคที่เรียกว่า ‘ยา’ และวิทยาศาสตร์ได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสังเคราะห์สารเคมีเสมือนที่มีโครงสร้างเช่นเดียวกันกับสารในธรรมชาติ รวมถึงสารอื่น ๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรค

แม้ยาแผนปัจจุบันจะมีคุณูปการต่อมวลมนุษยชาติ แต่ผลพวงจากยาแผนปัจจุบันที่ผลิตจากเคมีเป็นสิ่งที่กำลังทำร้ายโลกในทางตรง ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในทางอ้อม ถึงกระนั้นความคิดที่จะเรียกร้องให้โรงงานผลิตยายกเลิกการผลิตเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่น่ากระอักกระอ่วน เพราะมนุษย์ทั่วโลกยังคงต้องการใช้ยาอยู่ในปริมาณมหาศาล การใส่ใจและหาทางออกของปัญหานี้เพื่อเลี่ยงผลกระทบจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน

การปนเปื้อนยาในสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของคนทั้งโลกไม่ต่างจากการปนเปื้อนสารเคมี PFAS (Per and Polyfluoroalkyl Substances) หรือสารเคมีตลอดกาล และไมโครพลาสติก เพราะสารเคมีที่เหลือจากการผลิตยาปนเปื้อนไปทั้งดินและแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ทะเล หรือแม้แต่แหล่งน้ำใต้ดินที่โดยปกติแล้วจะมีการปนเปื้อนต่ำ โดยการปนเปื้อนยาในสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบ ต้นไม้ ปะการัง และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ

จากรายงานขององค์การยูเนสโกในหัวข้อการปนเปื้อนของยาในสภาพแวดล้อมทางน้ำในแถบทะเลบอลติกพบว่ามียาเพียง 9 ชนิดจาก 118 ชนิดเท่านั้นที่ถูกกำจัดออกจากน้ำเสียในระหว่างกระบวนการบำบัด และสารอื่น ๆ เกือบครึ่งถูกกำจัดแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

โดยยาที่พบการปนเปื้อนมากที่สุด คือ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาฮอร์โมน ยารักษามะเร็ง ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาต้านแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ทั้งยาสำหรับคนและสัตว์ ยาแต่ละชนิดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในด้านที่แตกต่างกัน

หนึ่งในผลกระทบที่น่ากังวล คือ การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม เดิมทียาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อที่ร่างกายไม่สามารถหายเองได้ ซึ่งการใช้ยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงต่ำคือการใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด การใช้นอกเหนือจากนั้นอาจทำให้เชื้อโรคดื้อต่อยา ส่งผลให้การรักษายุ่งยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะยาฆ่าเชื้อตัวเดิมไม่สามารถฆ่าเชื้อนั้นได้แล้ว

การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เชื้อโรคในธรรมชาติกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยามากขึ้น ซึ่งอาจแฝงไปกับน้ำ กับดิน สัตว์น้ำ ผลไม้ และผลผลิตต่าง ๆ เมื่อมนุษย์ได้รับเชื้อชนิดนี้อาจทำให้ร่างกายดื้อต่อยาฆ่าเชื้อและส่งผลต่อการรักษาได้ จากการคาดการณ์ในปี 2050 อาจมีคนทั่วโลกเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาราว 10 ล้านคน/ปี

โดยนอกจากน้ำเสียจากโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันแล้ว ระบบบำบัดน้ำของโรงพยาบาล การใช้ยาเกินความจำเป็น และการทิ้งยาไม่ถูกวิธีก็มีผลทำให้ยาเหล่านั้นปนเปื้อนในธรรมชาติได้มากขึ้น

ยาจากพืช หนึ่งในทางออกของปัญหาการปนเปื้อนของยาในสิ่งแวดล้อม

มนุษยชาติยังคงต้องใช้ยาแผนปัจจุบันต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับปัญหาสารเคมีจากยาปนเปื้อนในธรรมชาติ โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาระบบการบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อลดปริมาณการปนเปื้อนที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในระยะสั้นและระยะยาว

ในภาคประชาชน การใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสมและเคร่งครัด รวมถึงการจัดการยาที่หมดอายุหรือเหลือทิ้งอย่างเหมาะสมก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งทุกคนสามารถเริ่มทำได้เลย โดยจะช่วยให้ผู้คนใช้ยาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังลดอัตราการปนเปื้อนของยาในสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ รูปแบบธุรกิจยาสร้างสรรค์ในยุคใหม่มีคอนเซ็ปต์หรือแนวคิดในการผลิตยาจากพืชด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเภสัชศาสตร์เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน แต่เปลี่ยนเป็นการศึกษาและสกัดสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางยาจากพืชบนพื้นฐานการคำนึงถึงประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยที่เทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการศึกษาที่พบว่ากระบวนการผลิตสารสกัดจากพืชเพื่อจุดประสงค์ด้านสุขภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ซึ่งการหันมาใช้ยาที่สกัดจากพืชอาจช่วยลดการปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำได้ เพราะในการสกัดสารสำคัญจากพืชจำเป็นต้องใช้พืชที่มีสรรพคุณทางยาที่มีคุณภาพสูงและปลอดจากสารปนเปื้อน ดังนั้น ผู้ผลิตจริงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่การศึกษาคุณภาพของดินและน้ำว่าไม่มีสารปนเปื้อนหรือความเข้มข้นไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัย การใส่สารบำรุงพืชที่ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อเกษตรกรต้นทาง สภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูก ตลอดจนผู้บริโภคที่อยู่ปลายทาง

สุดท้ายนี้ ผู้คนยังจำเป็นต้องใช้ยารักษาโรคต่อเนื่องไปตลอด แต่การเกิดขึ้นของยาจากที่มีสารสกัดจากพืชที่มีมาตรฐานอาจเข้ามาทดแทนสัดส่วนของการผลิตยาแผนปัจจุบันที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งช่วยชะลอผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในระหว่างมนุษย์คิดค้นวิธีในการรับมือกับผลกระทบเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา: unep.org, moph.org, thaidrugwatch.org, sciencedirect